เพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Asian citrus psyllid)

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Asian citrus psyllid)

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม( Asian citrus psyllid ) คือ แมลงที่ทำลายส้มโดยตรงแล้ว ยังเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดโรค (Insect transmission) มาสู่ต้นส้มได้ ซึ่งเพลี้ยไก่แจ้ส้มเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคกรีนนิ่ง หรือโรคใบเหลืองต้นโทรม (citrus greening disease) หรือที่ภาษาจีนเรียกว่าฮวงหลงบิง(huanglongbing: HLB) หรือ yellow dragon disease เชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อสาเหตุชื่อ , Candidatus Liberibacter spp.

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Diaphorina citri Kuawayama เป็นแมลงในวงศ์ Psyllidae แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ลิวิอิดี้ (Liviidae) อันดับเฮมิพเทอร่า(Hemiptera) พืชอาศัยคือพืชตระกูลส้ม(Citrus sp.) เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มตรา ส้มเกลี้ยง มะนาว ฯลฯ นอกจากเพลี้ยไก่แจ้แล้วยังมีแมลงศัตรูส้มเขียวหวานอีกหลายชนิดไม่ว่า เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนชอนใบ หนอนเจาะสมอฝ้าย ส่วนใหญ่ทำลายผลผลิตโดยตรง

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไก่แจ้

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่แจ้ส้มจะทำลายโดยอาศัยและดูดกินบริเวณจากตา และยอดอ่อนที่แตกใหม่ ของส้ม ตัวอ่อนจะปล่อยสารสีขาวคล้ายเส้นด้าย เหมือนมูลน้ำหวานทำให้เกิดราดำ นอกจากนี้จะปล่อยสารพิษทำให้ยอดเหี่ยวแห้ง ใบหงิกงอ ถ้าทำลายรุนแรงทำให้ใบร่วง ผลติดน้อย หรือไม่ติดผลเลย กรณีมีเชื้อโรคกรีนนิ่ง จะเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไปสู่ต้นส้มต้นอื่นๆ ต้นจะทรุดโทรมและตายในที่สุด

วงจรชีวิตของเพลี้ยไก่แจ้

  • ไข่ ตัวเต็มวัยจะวางไข่บนยอดอ่อน มีสีเหลืองความยาวประมาณ 0.3 มม.ปลายข้างหนึ่งของไข่จะมีก้านเล็กๆยึดติดกับเนื้อเยื่อพืช ระยะไข่ 4-5 วัน

  • ตัวอ่อน หลังจากฟักจากไข่ใหม่ๆจะคลานจากบริเวณที่วางไข่ หลังได้จุดที่เหมาะสมจะดูดกินใบอ่อน ยอดอ่อน ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตาสีแดง 1 คู่ ตัวอ่อนมี 5 วัย ระยะเวลาประมาณ 11-15 วัน จึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย

  • ระยะตัวเต็มวัย มีขนาดเล็กตัวสีน้ำตาลอ่อน ความยาวจากส่วนหัวถึงปลายปีกประมาณ 3-4 มม. ปีกสีเทาปนน้ำตาล มีสีเข้มบริเวณขอบปีก ขณะเกาะอยู่กับที่ลำตัวจะทำมุม 45 องศา ถ้าได้รับการรบกวนจะกระโดดหนี หลังจากผสมพันธุ์จะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม ตลอดวงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 20 – 27 วัน (ศรีจำนรรจ์, 2554) ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ถึง 800 ฟอง

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้ม

  1. วิธีเขตกรรม ป้องกันไม่ให้เข้าสวน ก่อนนำเข้าต้นพันธุ์หรือพันธุ์ไม้เข้าสวน แช่ด้วยสารไทอะมีทอกแซม 25%WG หรืออิมิดาโคลพริด 70%WG อัตรา 4-5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 1 นาที

  2. วิธีกล เพลี้ยไก่แจ้ส้มเป็นแมลงพาหะนำโรคกรีนนิ่ง ดังนั้นการทราบช่วงเวลาการเข้าทำลายจะทำให้สามารถจัดการได้อย่างทันการณ์เพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยเกษตรกรควรสำรวจต้นส้มในช่วงส้มแตกตาและยอดอ่อน ในแต่ละสวนสำรวจต้นส้ม 10-20 ต้น ต้นละ 5 ยอด หรือใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวนอย่างน้อย 5 กับดักต่อไร่ เมื่อพบตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่แจ้บนกับดัก ต้องทำการป้องกันกำจัดทันที ถ้าเริ่มพบการระบาด หรือกิ่งที่ระบาดมากๆ ให้รีบตัดแต่งกิ่งไปเผาทำลาย แล้วค่อยพ่นสารเคมี

  3. การใช้สารสกัดจากพืชหรือสารชีวภัณฑ์ สำหรับแปลงการผลิตส้มอินทรีย์ สามารถใช้สารสกัดจากสะเดา หางไหล หนอนตายหยาก เชื้อราขาวบิวเวอเรีย หรือน้ำส้มควันไม้ เป็นต้น

  4. การใช้สารเคมี เมื่อเพลี้ยไก่แจ้ระบาดมากจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่

  • กลุ่ม 1 เช่น พิริมิฟอส50%EC หรือไดอะซินอน 60%EC มาลาไทออน 83%EC(ชนิดใดชนิดหนึ่ง) อัตรา 30-40 ซีซี

  • กลุ่ม 2 ฟิโพรนิล 5%SC อัตรา 20-30 ซีซี หรือ อีทิโพรล 10%SC อัตรา 40-50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 3 แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5%EC แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5%CS เดลทาเมทริน 3%EC เบตาไซฟลูทริน 2.5%EC เบตาไซเพอร์เมทริน 4.5%ME อีโทเฟนพร็อก 20%EC ไบเฟนทริน 2.5%EC ใช้อัตรา 20-30ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่มไพรีทรอยด์) ไม่ควรพ่นติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง เนื่องจากอาจเกิดการระบาดเพิ่มของแมลงศัตรูชนิดอื่นรวมทั้งไรแดง

  • กลุ่ม 4 กลุ่ม 4 อิมิดาโคลพริด 10%SLอัตรา 20-30 ซีซี อิมิดาโคลพริด 70%WG อัตรา 5 -10 กรัม ไทอะมีทอกแซม 25%WG อัตรา 5 -10 กรัม อะซีทามิพริด 20%SP อัตรา 10 -15 กรัม โคลไทอะนิดิน 16%SG อัตรา 10 -15 กรัม ไดโนทีฟูแรน 10%WP อัตรา 20 -30 กรัม ไดโนทีฟูแรน 20%SG อัตรา 10 -15 กรัม ซัลฟอกซาฟลอร์ 50%WGอัตรา 10 -15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 6 อะบาเมกติน 1.8%EC อัตรา 30-40 ซีซี อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92%EC อัตรา 20 ซีซี อีมาเมกตินเบนโซเอต 5%WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 9 ไพมีโทรซีน 50%WG อัตรา 15-20 กรัม

  • กลุ่ม 13 คลอร์ฟีนาเพอร์ 10%SC อัตรา 20ซีซี

  • กลุ่ม 14 คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50%SP อัตรา 30 กรัม

  • กลุ่ม 15 คลอร์ฟลูอาซูรอน 5%EC อัตรา 20 ซีซี ไดฟลูเบนซูรอน 25%WP อัตรา 20-30 กรัม โนวาลูรอน 10%EC อัตรา 10-20ซีซี ลูเฟนนูรอน 5%EC อัตรา 10-20ซีซี (ยับยั้งการลอกคราบของตัวอ่อน)

  • กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน 25%WP อัตรา 20-30 กรัม หรือ 40%SCอัตรา 15-20 ซีซี(ยับยั้งการลอกคราบของตัวอ่อน)

  • กลุ่ม 22 อินดอกซาคาร์บ 15%EC อินดอกซาคาร์บ 15%SCอัตรา 15-20 ซีซี

  • กลุ่ม 23 สไปโรเตตระแมต 24%SC อัตรา 10-15 ซีซี

  • กลุ่ม 28 ไซแอนทรานิลิโพรล 10%OD อัตรา 30-40ซีซี ไซแอนทรานิลิโพรล 20%SG อัตรา 15-20 กรัม

  • กลุ่ม 29 ฟลอนิคามิด 50%WG อัตรา 15-20 กรัม

  • กลุ่มอื่นๆ ไวท์ออยล์ 67%EC ปิโตรเลียมออยล์ 83.9%EC ถ้าใช้สลับกับสารเคมีทั่วไปใช้อัตรา 50-100ซีซี กรณีใช้แทนสารจับใบใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพสารเคมีอัตรา 30-50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

จะเห็นได้ว่าสารเคมีที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้ม มีให้เลือกมากมาย แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารไม่กี่กลุ่ม หรือใช้สารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ปัจจุบันเพลี้ยไก่แจ้ส้มปรับตัวดื้อยา ดังนั้นเกษตรกรควรเลือกซื้อสารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันหลายๆกลุ่มมาใช้สลับกัน แต่ละกลุ่มควรใช้ติดต่อกันไม่เกิน 15 วัน แล้วเปลี่ยนไปใช้สารกลุ่มอื่นๆ โปรดดูตัวอย่างในภาพประกอบ

คำแนะนำในการใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยแป้ง

การผลิตส้มเขียวหวาน ควรจัดการตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice; GAP) กรณีการใช้สารเคมีควรใช้อัตราตามฉลาก และเกษตรกรควรทิ้งช่วงก่อนเก็บเกี่ยวหลังจากการพ่นสารครั้งสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 7 วัน

การฉีดสารเข้าต้นด้วยยาปฏิชีวนะ(Antibiotics)

นักวิจัยของกระทรวงเกษตรที่สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลลินจีโซเดียม ( penicillin G sodium) มีศักยภาพในการรักษาโรคกรีนนิ่ง ใน ค.ศ.2014 USDA ได้ขยายผลเพื่อให้พัฒนาการวิจัยจนสามารถนำยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดคือสเตรปโตไมซิน streptomycin และออกซี่เตตระไซคลีน oxytetracycline ใช้กันแพร่หลายโดยสหรัฐอเมริกา แต่ถูกแบนโดยบราซิล และสหภาพยุโรป ในปี ค.ศ.2016 EPA ของสหรัฐฯอนุญาตให้ใช้ยาปฏิชีวนะทั้ง 2 ชนิด ในกรณีฉุกเฉินกับสวนส้มหลายชนิดรวมทั้งส้มเขียวหวาน ในมลรัฐฟลอริดา หลังจากนั้นมีการนำเอาออกซี่เตตระไซคลีนไปขยายผลเพื่อรักษาโรคกรีนนิ่งในมลรัฐอื่นๆของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามหน่วยงาน องค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration:FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention:CDC) มีข้อกังวลว่าจะเกิดภาวะที่คนมีโอกาสดื้อยาปฏิชีวนะได้

สำหรับประเทศไทยมีการใช้สารปฏิชีวนะทั้งเตตระไซคลีน และชนิดอื่นๆในส้ม ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันคือแอมพิซิลลิน ทั้งในส้มเขียวหวาน มะนาว และส้มโอ ซึ่งเป็นที่กังวลใจของทั้งบุคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากกังวลเรื่องเชื้อโรคดื้อยาในคนหากมีการตกค้างในผลผลิต ศรัญญู และคณะ(2560) รายงานว่าการใช้สารแอมพิซิลลินในอัตรา 250 และ 500 มิลลิกรัม กับส้มโอ พบการตกค้างในผลผลิตที่ 30 วัน 19.68 และ 32.96 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับแต่ไม่พบการตกค้างที่ 60 วัน แสดงว่าสารปฏิชีวนะมีความเสี่ยงตกค้างในผลผลิตได้หากเกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวก่อน 60 วัน หลังการใช้ หรือเกษตรกรมีการใช้อัตราที่สูงเกิน หรือใช้ซ้ำอีกจนเกิดการตกค้างสะสม ประเด็นนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ความชัดเจนว่าหากอนุญาตให้ใช้ได้ ควรมีคำแนะนำที่ถูกต้อง และเกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

เรียบเรียงโดย อาจารย์สุเทพ สหายา

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

กลุ่มกีฏและสัตววิทยา. 2553. การป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2553. เอกสารวิชาการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 303 หน้า.

ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา. 2554. แมลงศัตรูส้มเขียวหวาน. ใน แมลงศัตรูไม้ผล. เอกสารวิชาการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ. หน้า 71-86.

สุเทพ สหายา. 2561. รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช. หจก.เฟรม-อัพดีไซน์. กรุงเทพฯ. 108 หน้า

ศรัญญู ใจเขื่อนแก้ว ศรีเมฆ ชาวโพงพาง และอำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์. 2560. โรคฮวงลองบิง

(Huanglongbing) ส้มโอและการใช้สารปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน (ampicillin) เพื่อการควบคุมโรค. รายงานผลงานวิจัยการประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติครั้งที่ 13 21-23 พ.ย.2560 โรงแรมเรือรัษฎา, ตรัง. 16 หน้า.

From Wikipedia, the free encyclopedia. 2020. Candidatus Liberibacter

From Wikipedia, the free encyclopedia. 2020. Citrus greening disease.


11 Likes

ขอบคุณขอมูลดีๆครับ

1 Like