โรคช่อดอกดำในมะม่วง (Blossom Blight)
โรคช่อดอกดำในมะม่วง (Blossom Blight) คือ โรคที่เกิดจากสภาพความชื้นสูง , การทำลายของ เพลี้ยไฟ และ เชื้อราหลายชนิด เข้าทำลายต้นมะม่วง อาการของโรค ก้านช่อดอก เกิดเป็นปื้นเนื่องจากรอยแผลเล็กๆเชื่อมต่อติดกัน
สาเหตุของโรค
เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งสภาพความชื้นสูง การทำลายของเพลี้ยไฟ และเชื้อราหลายชนิด เช่น Colletotrichum sp. Fusarium sp. Cladosporium sp. Alternaria sp. Pestalotiopsis sp. เป็นต้น เข้าทำลายซ้ำเติม
อาการของโรค
ก้านช่อดอกเกิดเป็นปื้นเนื่องจากรอยแผลเล็กๆเชื่อมติดต่อกัน และลุกลามไปยังฐานช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้งดำทั้งช่อ ก่อนช่อดอกบานจะพบการระบาดของเพลี้ยไฟเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผลเล็กๆสีน้ำตาลแดงบนกลีบดอก แล้วเชื้อราสาเหตุของโรคช่อดอกดำเข้าทำลายซ้ำที่จุดแผลนั้น แผลจะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ บางครั้งจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวเทา หรือสีชมพูอ่อนๆขึ้นบนดอกที่แห้งดำ หรือที่ฐานรองดอก เมื่อเชื้อเข้าทำลายจะทำให้ช่อดอกแห้งดำทั้งช่อ ไม่ติดผล
การแพร่ระบาด
ระบาดมากในช่วงที่มีฝนตกชุก , เมื่อดอกเริ่มบาน และ ปริมาณเพลี้ยไฟในพื้นที่ปลูกค่อนข้างสูง
การป้องกันกำจัด
-
สำรวจปริมาณเพลี้ยไฟอย่างสม่ำเสมอ และควรกำจัดเพลี้ยไฟก่อนดอกบาน
-
ถ้าเริ่มสังเกตพบอาการโรค ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ เช่นสารในกลุ่มรหัส 1( เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม ไธอะเบนดาโซล ไทโอฟาเนทเมทิล) สารกลุ่มรหัส 3 ( ไตรฟอรีน โพรคลอราช ไดฟิโนโคนาโซล อีพ๊อกซีโคนาโซล เฮกซาโคนาโซล ไมโคลบิวทานิล โพรพิโคนาโซล ทีบูโคนาโซล และ เตตราโคนาโซล เป็นต้น ) และสารกลุ่มรหัส 11 ( อะซ๊อกซีสโตรบิน ไพราโคลสโตรบิน ครีโซซิมเมทิล และ ไตรฟล๊อกซีสโตรบิน เป็นต้น) และเพื่อป้องกันการดื้อของเชื้อต่อสารป้องกันกำจัดโรคพืช ควรพ่นสลับหรือผสมกับสารประเภทสัมผัส เช่น แมนโคเซบ โพรพิเนป คลอโรทาโลนิล เป็นต้น
เรียบเรียงโดย อาจารย์อรพรรณ วิเศษสังข์
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
เตือนใจ บุญ-หลง และคณะ. 2545. โรคไม้ผล. กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร. 120 หน้า.
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 172 หน้า.
สุชาติ วิจิตรานนท์. 2541. โรคมะม่วง และ การป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน. 30 หน้า.