โรคเปลือกผลแตกเน่าในลำไย (Cracked and Rotten Skin)

โรคเปลือกผลแตกเน่าในลำไย (Cracked and Rotten Skin)

โรคเปลือกผลแตกเน่าใน ลำไย คือ อาการเปลือกผลลำไยแตกเป็นทางยาวจากขั้วผลมายังด้านล่าง บริเวณรอยแตกจะเห็นคราบสีน้ำตาลเข้ม เนื้อผลลำไยจะดันบวมออกมาด้านนอกบริเวณรอยแตก ทำให้น้ำหวานไหลออกมา

สาเหตุของโรค

มาจากเชื้อรามีโอกาสเป็นไปได้จากเชื้อรา 2 ชนิดคือ เชื้อราLasiodipdia theobromae หรือเชื้อรา Pestalotiopsis sp.

อาการของโรค

อาการเปลือกผลแตกเป็นทางยาวจากด้านขั้วผลมายังด้านล่าง บริเวณรอยแตกส่วนใหญ่จะเห็นรอบคราบสีน้ำตาลเข้ม เนื้อผลจะดันบวมออกมาด้านนอกบริเวณรอยแตก ทำให้น้ำหวานไหลออกมาและมีเชื้อราหลายชนิดขึ้นปกคลุมบริเวณรอยแผลและขั้วผล บางครั้งยังไม่แสดงอาการผลแตก แต่ภายในผลเน่าเสียทั้งหมด มีกลิ่นเหม็น อาการเน่าลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับลำไยผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นอาการที่พบมากกับลำไยที่ปลูกในเขต อ. สอยดาว และ อ. โป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

การพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนพืชบางชนิดทางใบมากเกินความจำเป็นมีส่วนช่วยทำให้ผลลำไยมีอัตราการแตกสูงขึ้น การขยายตัวของเนื้อผลและเปลือกผลไม่สมดุลกัน เนื้อลำไยประกอบด้วยเซลล์ที่อ่อนนุ่มมีการยืดหดตัวสูง ส่วนเปลือกผลลำไยจะแข็งยืดหดตัวได้ต่ำกว่า ไม่สามารถรองรับปริมาณการขยายตัวของส่วนเนื้อได้ ส่วนของเนื้อผลจึงดันให้เปลือกแตกออก ประกอบกับผลลำไยที่เกิดจากการบังคับให้ออกดอกติดผลทุกปี และมีจำนวนผลต่อช่อสูงมากผลลำไยจึงมีเปลือกบางกว่าปกติทำให้ผลแตกง่ายขึ้น การให้ปุ๋ยหวานฉีดพ่นทางใบเพื่อเพิ่มคุณภาพของผล ปุ๋ยหวานดังกล่าวจะมีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูง ผลของการให้ธาตุโปแตสเซียมสูงขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ ทำให้เกิดการชักนำให้มีการเคลื่อนย้ายน้ำตาลเข้าไปยังส่วนของเนื้อผล เป็นผลให้ส่วนของเนื้อผลมีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เนื้อผลขยายและดันเปลือกให้แตกได้ ลำไยที่ปลูกในเขตจังหวัดจันทบุรี จะมีอาการเปลือกแตกผลเน่าอัตราสูงในช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลำไยพันธุ์อีดอ ซึ่งมีเปลือกบางกว่าพันธุ์อื่น

การแพร่ระบาดของโรค

เชื้อสาเหตุเข้าทำลายซ้ำเติมที่รอยแตกของผลซึ่งเกิดขึ้น ก่อนเนื่องจากการใช้ธาตุอาหารเสริมอย่างไม่เหมาะสม และเมื่อเชื้อพัฒนาเต็มที่แล้วจะแพร่พันธุ์ต่อไปโดยลม และ ฝน

วิธีการป้องกันและจัดการกับโรค

  1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรฟื้นฟูต้นลำไยให้แข็งแรงสมบูรณ์ ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ธาตุอาหารพืชครบทั้งอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมในจำนวนที่เหมาะสม ต้นที่จะบังคับให้ออกดอกควรเป็นต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์

  2. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาการติดผล ต้นลำไยที่ได้น้ำไม่เพียงพอในขณะที่ผลผลิตใกล้เก็บเกี่ยว เมื่อมีการดูดน้ำเข้าต้นและผลมากอาจเป็นสาเหตุให้ผลแตกได้ ส่วนลำไยที่มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ พบว่าลำไยมีอัตราการแตกน้อยมาก

  3. ลดอัตราการให้ปุ๋ยและฮอร์โมนพืชทางใบ โดยเฉพาะในช่วงระยะพัฒนาการของผล ต้นลำไยที่ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมควรควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยให้เหมาะสมไม่ควรเร่งขยายขนาดและคุณภาพผลโดยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เนื่องจากลำไยที่ออกดอกในช่วงเดือนดังกล่าวจะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก สภาพแวดล้อมมีความชื้นสูง ผลผลิตลำไยจะแตกในช่วงระยะเวลานี้มาก

  4. ในระยะเริ่มติดผล พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคผลเน่า เช่น สารในกลุ่มรหัส1 (เบนโนมิล คา ร์เบนดาซิม )หรือ สารกลุ่มรหัส 3 (ไตรฟอรีน โพรคลอราช ไดฟิโนโคนาโซล อีพ๊อกซีโคนาโซล เฮกซาโคนาโซล ไมโคลบิวทานิล โพรพิโคนาโซล ทีบูโคนาโซล เตตรานาโซล ) สารกลุ่มรหัส 11 (อะซ๊อกซีสโตรบิน ไพราโคสโตรบิน ครีโซซิมเมทิล ไตรฟล๊อกซีสโตรบิน) หรือ สารอื่นๆที่เป็นสารผสมกับสารเหล่านี้ เป็นต้น โดยใช้ผสมหรือสลับกับสารประเภทสัมผัส เช่น สาร แมนโคเซ็บ โปรพิเนป คลอโรทาโลนิล เป็นต้น เพื่อป้องกันการดื้อของเชื้อสาเหตุโรคพืช

เรียบเรียงโดย อาจารย์อรพรรณ วิเศษสังข์

33 Likes

ใส่ปุ๋ยช่วงลูกเท่ามะเขือพวงลำไยมักร่วงสาเหตุเกิดจากอะไรค่ะ

5 Likes