อยากทำธุรกิจออร์แกนิคแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง? Kaset Go มีคำตอบ อ่านเลย! เคล็ด(ไม่)ลับการเป็นชาวสวนสายสุขภาพ รู้แล้วรวย เริ่มได้เลย!
ในยุคปัจจุบันที่คนไทยใส่ใจกับเทรนด์รักสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงยุคที่ประเทศไทยประสบกับโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการและสนใจอาหารที่ปลอดภัย ไม่เจือปนสารเคมี และสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้เพิ่มมากขึ้น คำว่า “ออร์แกนิค” หรือ “เกษตรอินทรีย์” จึงเป็นคำที่ทุกคนคุ้นหู และใช้กันมากขึ้นในทุกๆวัน ฉะนั้นเกษตรกรชาวไทยจึงรอเฉยไม่ได้ ต้องรีบตักตวงโอกาสนี้ หาข้อมูลในการทำสินค้าออร์แกนิค ลงทุนทำเกษตรปลอดสาร และเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจของตัวเอง
.
ออร์แกนิคคืออะไร?
ก่อนที่เกษตรกรจะลงทุนหรือลงมือทำสินค้าออร์แกนิค อันดับแรกคือ ต้องรู้จักคำว่า “ออร์แกนิค” ให้ชัดเจนเสียก่อน ออร์แกนิค คือ การปลูกพืชด้วยวิธีทางธรรมชาติ ปลอดสารเคมีทุกขั้นตอนการผลิต พืชที่ปลูกเป็นพืชตามฤดูกาลทีเหมาะสม ไม่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) เมล็ดพืชที่ใช้ไม่เป็นเมล็ดพืชที่ถูกตัดต่อหรือดัดแปลง รวมถึงวัสดุดินที่ใช้ปลูกต้องไม่ผ่านการใช้สารเคมีมาก่อนหน้า โดยเงื่อนไขในการผ่านใบรับรองออร์แกนิค คือ ต้องไม่มีการใช้สารเคมี หรือ ปุ๋ยเคมี เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี
.
ออร์แกนิคดีอย่างไร?
เกษตรอินทรีย์นับว่าเป็นธุรกิจออร์แกนิคที่น่าลงทุน และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากจะช่วยทำให้ผู้บริโภคและตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากผักออร์แกนิคแล้ว ผู้ปลูกยังสามารถมีผักผลไม้จากการเพาะปลูกออร์แกนิคกินได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรหลายท่านอาจกลัวว่าสินค้าออร์แกนิคนั้นมีราคาสูงเกินไป แต่จริงๆ แล้วเกษตรอินทรีย์หรือสินค้าออร์แกนิคมีตลาดที่ใหญ่มากและผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ โดยดูได้จากเทรนด์ธุรกิจออร์แกนิคในประเทศไทย (อ้างอิงจาก เส้นทางเศรษฐีออนไลน์) ที่มีมูลค่าตลาดภายในประเทศประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านบาท ตลาดออร์แกนิคมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยจากเดิม 357,091 ไร่ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 83% หรือคิดเป็น 652,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศอินโดนิเชีย และประเทศฟิลิปปินส์
.
ขั้นตอนสู่ธุรกิจออร์แกนิค
การเริ่มต้นธุรกิจออร์แกนิค ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการทำสิ่งยิ่งใหญ่ แต่ทว่าเริ่มจากการทดลองปลูกแปลงเล็กๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมถึงหาข้อมูลเชิงลึกในการทำเกษตรอินทรีย์ และเพื่อได้ใช้เวลาหาตลาดที่ใช่ในการกระจายสินค้าออร์แกนิคอีกด้วย ขั้นตอนในการทำธุรกิจออร์แกนิคไม่ยาก มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.วางแผนทำสวนผักออร์แกนิค เกษตรกรต้องมีการวางแผนงานการดำเนินการที่ละเอียด และคำนึงถึงปัจจัยและปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในการทำสวนผักออร์แกนิค โดยเริ่มจากการประเมินสิ่งที่ตนเองมี เช่น พื้นที่ปลูก งบประมาณลงทุน แหล่งซื้ออุปกรณ์หรือวัสดุต่างๆใกล้บ้าน แหล่งข้อมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (แหล่งข้อมูลบุคคล หรือสถานที่ดูงาน) ไปจนถึงการคิดหาแนวทางการทำธุรกิจออร์แกนิค
2.ศึกษาหาความรู้และเตรียมการ ก่อนจะลงมือทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรจะต้องศึกษาหาข้อมูลการทำสวนผักออร์แกนิคเชิงลึก โดยการศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งอินเตอร์เน็ต หรือช่องวิดีโอที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งไปศึกษาดูงานจากสวนผักออร์แกนิคต่างๆได้ เกษตรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ พื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ดิน ปุ๋ยอินทรีย์ จุลินทรีย์ ปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม ฤดูกาลปลูกที่ดี รวมไปถึงการกำจัดโรคและวัชพืชแบบไม่ใช้สารเคมี
3.ทดลองปลูกผักออร์แกนิค ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนผักออร์แกนิคที่เป็นกรณีตัวอย่างในข่าว หรือช่องวิดีโอต่างๆ ต่างก็เป็นเกษตรกรที่ต้องเริ่มจากการทดลองปลูก และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนทั้งสิ้น อาจจะมีการทดลองผิดทดลองถูกอยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อพัฒนาธุรกิจออร์แกนิคของตนให้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการปลูกพืชที่ตนเองชอบ หรือถนัด ไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียวเยอะเกินไปจนทำให้เกิดสินค้าล้นตลาด และอาจทำให้ทางเลือกในการขายสินค้าลดน้อยลง การปลูกสามารถเริ่มปลูกได้จากแปลงปลูกขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้ดูแลและควบคุมผักออร์แกนิคได้อย่างทั่วถึง
4.ขึ้นทะเบียนรับรองสวนผักออร์แกนิค การมีใบรับรองสวนผักออร์แกนิคถือเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเป็นสิ่งรับรองความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของธุรกิจออร์แกนิคของเกษตรกรนั้นๆ และยังเป็นเครื่องหมายในการต่อยอดทางด้านการขายสินค้าออร์แกนิคอีกด้วย ฉะนั้นเกษตรกรสายสุขภาพจึงต้องรู้จักตรามาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของหน่วยงานไทย ซึ่งมีดังนี้
ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ มกท. (ORGANIC AGRICULTURE CERTIFICATION THAILAND – ACT)
ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ– มกอช. (NATIONAL BUREAU OF AGRICULTURAL COMMODITY AND FOOD STANDARDS – ACFS)
ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ – มอน. (THE NORTHERN ORGANIC STANDARD ORGANIZATION)
ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพชรบูรณ์ (มก.พช.)
ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ ชมรมเกษตรอินทรีย์เกาะพะงัน
5.ทำการตลาดสินค้าออร์แกนิค เกษตรกรสามารถต่อยอดธุรกิจออร์แกนิคได้โดยการทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และขยายช่องทางการขายสู่ตลาดใหม่ๆ อีกทั้งประชาสัมพันธ์สวนผักออร์แกนิคเพื่อทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยอาจจะเริ่มต้นจากการสร้างเว็บไซต์ หรือเพจเพื่อให้สวนผักออร์แกนิคและสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่รู้จัก จากนั้นทำการขายและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และอื่นๆ โดยหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกรณีศึกษาอื่นๆ ในอินเตอร์เน็ต
.
เกษตรกรสายสุขภาพที่รู้เทคนิค ขั้นตอนอย่างละเอียดในการทำธุรกิจออร์แกนิค รวมถึงรู้ข้อดีและแนวโน้มของตลาดเกษตรอินทรีย์แล้วก็สามารถลงมือได้เลย การทำเริ่มต้นทำธุรกิจออร์แกนิคนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลย หากแค่ต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจในการทำสวนผักออร์แกนิค และทำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำจนเกินตัว หากเกษตรกรท่านใดเริ่มลงมือทำแล้วและเกิดความสงสัยหรืออยากจะแชร์ประสบการณ์ทำธุรกิจออร์แกนิค สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในแอพลิเคชั่น Kaset Go ได้เลย เกษตรกรสามารถดูบทความและวิดีโอที่ทาง Kaset Go ได้เขียนไว้เกี่ยวกับการทำเกษตรออร์แกนิค หรือ “Organic Farming” ได้ดังนี้
บทความ ‘สวนปิ่นโต’ ตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีคำว่าสายไป ถ้าจะเริ่มทำออร์แกนิค! ‘สวนปิ่นโต’ ตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีคำว่าสายไป ถ้าจะเริ่มทำออร์แกนิค!
วิดีโอ ออร์แกนิคคืออะไร? อยากเริ่มต้องทำยังไง? ดูวิดีโอที่โพสต์นี้เลย! ออร์แกนิคคืออะไร? อยากเริ่มต้องทำยังไง? ดูวิดีโอที่โพสต์นี้เลย!.ออร์แกนิคเป็นแนวทางการทำการเกษตรที่ได้รับความนิยมอย่าง
ขอบคุณข้อมูลจาก
5 ตรามาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของหน่วยงานไทย (megazy.com)