การเสริมรากส้ม
ส้มเป็นไม้ผลเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่เกษตรกรจำนวนมากให้ความสำคัญ และปลูกเป็นอาชีพหลัก ส้มสามารถผลิตนอกฤดูกาลได้ทำให้มีราคาสูง แต่เนื่องจากการปลูกส้มในปัจจุบันยังมีการใช้กิ่งตอน และกิ่งเสียบยอด การปลูกส้มด้วยกิ่งตอนมักจะประสบปัญหาส้มต้นโตโค่นล้มในช่วงฤดูแล้งที่มีพายุฤดูร้อน ดังนั้นเพื่อป้องกันการโค่นล้มของต้นส้มและเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตส้ม เกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกที่จะมาเกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
-
การโค่นล้มของต้นส้มใหญ่จากลมพายุในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีความรุนแรง
-
การทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตเร็ว และตกผลได้เร็วขึ้น
-
ช่วยให้โครงสร้างลำต้นส้มแข็งแรง สามารถกระจายการติดผล ได้ทั่วทั้งทรงพุ่ม
การเตรียมการในการเสริมรากส้ม
-
ควรปลูกต้นส้มพันธุ์ดีลงไปก่อน ประมาณ 1-2 ปี ลำต้นโตเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 นิ้ว
-
การเตรียมต้นตอโดยการเพาะเม็ดส้มพล หรือส้มป่า หรือซื้อเป็นต้นกล้ามาปลูก ขนาดเล็กประมาณ 30 เซนติเมตรไปปลูกหลุมละ 2-3 ต้นโดยขุดหลุมห่างจากโคนส้มต้นแม่ประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ละต้นห่างจากกันทำมุมที่จุดศูนย์กลางต้นแม่พันธุ์ดีเท่าๆกัน(สามเส้า)
-
หลังปลูกต้นตอไปแข็งแรงดีแล้วและมีขนาดพอที่จะเพื่อจะทำการเสริมรากแล้วขนาดประมาณปลายตะเกียบหรือ 0.3-0.5 เซนติเมตรและต้นส้มพันธุ์ดีที่ต้องการจะเสริมรากแข็งแรงและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5เซนติเมตร
-
ในช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็นช่วงที่เปลือกไม้ร่อนแล้ว จึงเริ่มดำเนินการเสริมรากได้
-
ทำการจับคู่และหาตำแหน่งที่จะทำการเสริมรากส้มแล้วทำการกำหนดจุดเพื่อการทำแผลบนต้นตอและบนต้นส้มพันธุ์ดี
-
ทำแผลบนต้นส้มพันธุ์ดี ที่ระดับความสูงจากดินประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยใช้มีดกรีดเปิดเปลือกจากล่างข้นบนเป็น 2 แนวขนานกันความกว้างแผลคู่ขนาน ใหญ่กว่าขนาดต้นตอที่จะนำมาเสริมรากเล็กน้อย
-
ใช้มีดตัดเปลือกระหว่างรอยแผลที่กรีดไว้แล้วลอกเปลือกเพื่อเปิดปากแผลจากด้านล่างขึ้นด้านบนยาวประมาณ 0.5-1.0 นิ้วแต่ยังไม่ตัดเปลือกทิ้ง รอจนกว่าจะทำการเสียบต้นตอ(กรณีต้นพันธุ์ดีเปลือกไม่ร่อน ให้เปลี่ยนวิธีการทำแผลบนต้นพันธุ์ดีโดยเฉือนเข้าเนื้อไม้เฉียงจากด้านล่างขึ้นด้านบนเล็กน้อยยาว 0.5-1.0 นิ้วแล้วตัดปลายแผลเฉียงลึกเข้าเนื้อไม้ ส่วนที่เหลือเป็นบ่าเพื่อรองรับปลายแผลปากฉลามของต้นตอที่จะเอามาเสียบ)
-
ผูกเงื่อนตะกรุดเบ็ดบนต้นตอแล้วทำแผลต้นตอที่จะนำมาเสริมรากตรงตำแหน่งที่กำหนดไว้แล้ว เฉือนแผลด้านในตรงข้ามกับต้นพันธุ์ดีเป็นรูปปากฉลามยาว 0.5-1.0 นิ้วแล้วตัดปลายปากฉลามเล็กน้อย ขณะเดียวกันย้อนไปตัดเปลือกไม้ของต้นส้มพันธุ์ดีออก 2 ใน 3 เหลือไว้ 1ใน 3 สำหรับเป็นบ่ารับแผลต้นตอที่จะมาเสียบ
-
นำต้นตอที่ทำแผลแล้วมามัดโยงกับต้นส้มพันธุ์ดีแล้วเสียบแผลต้นตอลงในแนวร่องเปลือกที่เปิดโดยให้ปลายแผลปากฉลามสอดเข้าใต้เปลือกแผลของต้นส้มพันธุ์ดี จัดให้แผลของต้นตอและต้นส้มพันธุ์ดีแนบกันสนิทมากที่สุด
-
ใช้เชือกฟางสีขาวพันมัดรอยแผลต้นตอที่เสริมรากให้แนบแน่นจากด้านล่างขึ้นด้านบนแล้วผูกปลายเงื่อน (แต่อย่าให้แน่นเกินไปจนทำให้เปลือกไม้ของต้นตอและต้นพันธุ์ดีเสียหาย)
-
ใช้เทปพลาสติกพันทับเริ่มจากด้านล่างซ้อนทับเหลื่อมกัน1ใน3 ขึ้นด้านบน เลยรอยแผลขึ้นไปประมาณ 1นิ้ว แล้วมัดปลายเงื่อนให้แน่น
-
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนจะเห็นเนื้อไม้รอยแผลประสานกันสนิท และหมั่นสังเกต ว่ารอยมัดเชือกที่เปลือกไม้ของต้นพันธุ์ดีและต้นตอที่นำมาเสริมรากเริ่มคอดให้แก้เชือกผ่อนออกแล้วมัดเชือกฟางใหม่ไม่ทับรอยคอดเดิม ทำอย่างประมาณ 2-3 ครั้งจนกว่ารอยประสานทั้ง 2 จะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
ข้อควรระวังในการเสริมรากส้ม
-
ควรทำการเสริมรากส้มในช่วงหมดฝนใหม่ๆก่อนเข้าฤดูหนาว พืชสมบูรณ์แข็งแรง เปลือกไม้ร่อนง่ายและไม่มีฝนจะไม่มีปัญหาเรื่องแผลเน่าเสียหาย
-
การเสริมรากส้มควรทำการเสริมทีละรากให้รากที่เสริมรากแรกติดเสียก่อนแล้วจึงทำการเสริมรากที่ 2 และ 3 ต่อไป
-
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเสริมรากส้ม ต้องสะอาดและคม
-
การทำแผลต้องระวังอย่าให้แผลช้ำ หรือแผลติดเชื้อและเน่าเสียหาย
-
การพันเทปพลาสติกควรดึงตึงสม่ำเสมอเรียงซ้อนทับกันประมาณ 1 ใน 3 ไปเรื่อยๆจนเลยแผลด้านบน 1 นิ้ว แล้วขมวดปลายเงื่อนให้แน่น
-
นำเชือกฟางมาผูกมัดต้นตอกันต้นส้มพันธุ์ดีให้แน่นเพื่อป้องกันลมโยกทำให้แผลประสานหลุดจากกัน
เรียบเรียงโดย อาจารย์มนู โป้สมบูรณ์
