โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน คือ อาการเน่าที่โคนต้น กิ่ง หรือที่ผิวเปลือกของต้นทุเรียน คล้ายมีคราบน้ำเกาะติดโดยสภาพที่ต้นทุเรียนจะเกิดจุดฉ่ำน้ำและมีน้ำเยิ้มออกมาเนื้อเยื่อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ถ้าลุกลามจะทำให้ใบร่วงและ ต้นตายลง
สาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
เชื้อราไฟทอปทอร่า (Phytophthora palmivora (Buller) Butler)เป็นเชื้อราชั้นต่ำที่อาศัยอยู่ในดิน ชื่อ ไฟทอปทอร่า นี้ มีความหมายว่า ผู้พิฆาต หรือผู้ทำลายพืช เชื้อตัวนี้พบที่ไหนจะทำลายพืชได้รุนแรง รวดเร็วและเสียหายเสมอ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยอย่างไรจะต้องมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วย
อาการของโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
อาการเน่าที่ส่วนโคนต้น และกิ่ง ที่ผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่ง คล้ายมีคราบน้ำเกาะติด เห็นได้ชัดในสภาพที่ต้นทุเรียนแห้งเกิดจุดฉ่ำน้ำและมีน้ำเยิ้มออกมาเนื้อเยื่อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม แสดงอาการลุกลามเน่ารอบโคนต้น ทำให้ทุเรียนใบร่วงหมดต้น ยืนต้นแห้งตายในเวลาต่อมา เชื้อราเข้าทำลายที่ใบจะเกิดเป็นจุดสีน้ำตาล ถ้าเข้าทำลายที่ผลจะเกิดจุดสีน้ำตาลบนผล จะทำให้ผลเน่าและร่วงลงมาจากต้น เชื้อเข้าทำลายที่รากต้นทุเรียน ทำให้รากเป็นสีน้ำตาล เมื่อรากเน่ามาก ใบทุเรียนที่อยู่ปลายกิ่งไม้จะมีอาการซีดเหลือง การเจริญเติบโตชะงัก และต่อมาใบเริ่มร่วงที่ส่วนปลายกิ่งของต้น
การแพร่ระบาดโรครากเน่าโคนเน่า
เชื้อรานี้อาศัยอยู่ในดิน สปอร์ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์จะทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือ มีอาหารเพียงพอ สปอร์นี้จะงอกและ สร้างเส้นใยเข้าไปในรากพืชและเจริญพัฒนาสร้างเส้นใยขยายตัวภายในพืชทำให้รากเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อรากเน่ามากใบทุเรียนที่ปลาย กิ่งจะเหลืองซีด ชะงักการเจริญและร่วงในที่สุด
ในสภาวะที่ความชื้นสูงและฝนตกชุก เชื้อราแพร่กระเซ็นเข้าทำลาย ที่โคนต้น และ กิ่งใหญ่ๆ เห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำและมีน้ำเยิ้มออกมาเนื้อเยื่อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นทุเรียนแสดงอาการเหลืองเป็นกิ่งๆ หลังจากนั้นจะแพร่กระจายไปสู่ผล ทำให้ผลเน่า
นอกจากความชื้นและฝนที่จะมีผลต่อการเจริญพัฒนาและแพร่กระจายของเชื้อแล้ว อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เชื้อสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่านี้สามารถเจริญได้ในอุณหภูมิ 11 -35 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญและพัฒนาของเชื้อรานี้ อยู่ที่ 27.5 – 30 องศาเซลเซียส
แนวทางการจัดการโรครากเน่าโคนเน่าสำหรับผู้ที่จะเริ่มปลูกทุเรียนใหม่
-
ปรับดินบริเวณหลุมปลูกด้วยปูนขาว ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์
-
รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก
-
หลังย้ายปลูกหว่านรอบโคนด้วยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกและรำข้าวอัตรา 1 : 50 – 100 : 4 กก.
-
สำหรับผู้ที่ปลูกแล้วแต่ยังไม่พบอาการ ให้ที่โคนต้นทุเรียนหว่านรอบโคนด้วยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกและรำข้าวอัตรา 1 : 50 – 100 : 4 กก.
กรณีที่มีโรครากเน่าโคนเน่าเกิดขึ้นแล้ว
-
ถากแผลที่มีอาการออกให้หมด
-
ป้ายแผลด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราสำหรับราชั้นต่ำ* หรือ ฉีดเข้าต้นด้วย สารฟอสฟอนิก เอซิด หรือ ฟอสฟอรัส เอซิด
-
พ่นส่วนบนต้นด้วย สารเคมีสำหรับเชื้อราชั้นต่ำ*
-
หว่านรอบโคนด้วย เชื้อจุลินทรีย์ปโฏิปักษ์ ไตรโคเดอร์ม่า ผสม ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก และรำข้าว อัตรา 1 : 50 – 100 : 4 กก.
การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ไตรโคเดอร์ม่านั้น ต้องหว่านให้รอบโคน มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะใช้มากเกินไป เพราะการจะผสมและหว่านในพื้นที่ใหญ่ๆอย่างสวนทุเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทั่วถึง และคำถามที่ว่าจะต้องใช้ซ้ำเมื่อไหร่ นั้น เราสามารถสังเกตุได้จากเส้นใยสีเขียวของเชื้อราที่บริเวณโคนต้นพืช ใน ๑ -๒ ปีแรกของการใช้อาจจะต้องเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยคอก และอาจจะหว่านรำข้าวเพิ่มเป็นระยะๆ เพราะรำข้าวคืออาหารโดยตรงของเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าหว่านรำข้าวลงไปแล้วไม่มีเส้นใยสีเขียวเกิดขึ้น
สารสำหรับเชื้อราชั้นต่ำเช่นสารเคมีในกลุ่มรหัส 4 (เมตาแลกซิล)
กลุ่มรหัส 21 (ไซยานามิด )
กลุ่มรหัส 22 (อีทาบ๊อกแซม)
กลุ่มรหัส 27 (ไซม๊อกซานิล** )
กลุ่มรหัส 28 (โพรพาโมคาร์บ ไฮโดรคลอไรด์ )
กลุ่มรหัส 40 (ไดเมโทมอร์ฟ ไอโพรวาลอคาร์บ** วาลิฟินาเลท** แมนดิโพรพามิด**)
กลุ่มรหัส 43 (ฟลูโอปิคลอไรด์** )
กลุ่มรหัส 32 (ไฮมิซาโซล)
กลุ่มรหัส P07(33) (ฟอสอีทิล อลูมิเนียม ฟอสฟอนิก เอซิด ฟอสฟอรัส เอซิด) เป็นต้น
** จะมีจำหน่ายในลักษณะของสารผสมกับสารประเภทสัมผัส
การฉีดกรดฟอสฟอรัสเข้าต้นทุเรียน
วิธีการใช้ กรดฟอสฟอรัส / กรดฟอสฟอนิก ( Phosphorous acid, Posohonic acid) ฉีดเข้าต้นทุเรียน สำหรับควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา ไฟทอปทอร่า (Phytophthora ) นั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตร ได้คิดค้นพัฒนาขึ้นมาและใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ อาจจะมีการพัฒนาดัดแปลงไปบ้างตามความเหมาะสมของเกษตรกรแต่ละราย ขอสรุปวิธีการใช้ตามนี้
อัตราการผสมสารเคมี
ฤดูฝน : ใช้กรดฟอสฟอรัส เอซิด 10 มล. ผสมกับน้ำกลั่น 10 มล. ต่อ 1 หลอด
ฤดูแล้ง: ใช้กรดฟอสฟอรัส เอซิด 5 มล. ผสมกับน้ำกลั่น 10 มล. ต่อ 1 หลอด
ปริมาณที่ใช้ต่อต้น : สามารถคำนวณได้ 2 วิธีคือ
-
วัดความยาวของเส้นรอบวงลำต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 1 ฟุต : ใช้สารที่ผสมแล้ว 1 หลอดต่อความยาวเส้นรอบวง 30 – 40 ซม.
-
คำนวณจากอายุของต้นทุเรียน : อายุ 3-4 ปี ใช้ 1 หลอด อายุ 5-7 ปี ใช้ 2 หลอด อายุ 8-10 ปีใช้ 3 หลอด อายุ 11- 15 ปี ใช้ 3-4 หลอด และ อายุ มากกว่า 15 ปีใช้ 4 หลอด
ระยะเวลาในการฉีด
-
ถ้าใช้เพื่อป้องกันโรค ในกรณีที่ต้นยังไม่แสดงอาการ: ฉีด ทุก 4 – 6 เดือน
-
รักษาต้นที่มีอาการเล็กน้อย : ฉีดทุก 2-3 เดือน
-
รักษาต้นที่มีอาการรุนแรง : ฉีดทุก 1-2 เดือน
เรียบเรียงโดย อาจารย์อรพรรณ วิเศษสังข์
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
ธรรมศักดิ์ สมมาตรย์. 2532. การควบคุมโรคโคนเน่ารากเน่าของทุเรียนด้วยเทคนิคโรคพืช มก. และสาร m-dKP.หน้า 42-48. ในเอกสารประกอบการบรรยาย เทคนิคและกลยุทธในการต่อสู้โรคทุเรียนและพริกไทย.