มวนลำไย

มวนลำไย

มวนลำไย หรือ แมงแกง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tessaratoma papillosa Drury เป็นแมลงที่เดิมอยู่ในวงศ์เพนตาโตมิดี้ (Pentatomidae) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวงศ์เทสสะราโตมิดี้ (Family Tessaratomidae) วงศ์ย่อยเทสสะราโตมินี (Subfamily Tessaratominae) อันดับเฮมิพเทอร่า (Hemiptera) เป็นแมลงจำพวกปากแบบแทงดูด (Piercing sucking) มวนลำไยกินพืชอาหารหลักคือ ลำไยและลิ้นจี่ นอกจากลำไยและลิ้นจี่แล้ว พืชอาหารยังมีพืชอื่นๆ เช่น ตะคร้อ ทองกวาว และประคำดีควาย

มวนลำไย คือ ศัตรูที่สำคัญของลำไยและลิ้นจี่ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ช่อดอก และผล ทำให้ยอดลำไยเหี่ยว ผลลำไยร่วง ผลผลิตลำไยลดลงไม่ได้คุณภาพ มวนลำไยจะมีต่อม (metathoracic scent glands (MTGs)) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบริเวณส่วนอกปล้องสุดท้าย (metathorax)และด้านล่างของปล้องท้องปล้องแรก มีหน้าที่ผลิตของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นและเป็นพิษ เป็นสารกลุ่มอัลโลโมนส์ (allomones)

ชนิดสารหลักที่พบในทั้งตัวผู้และตัวเมียคือสารไตรดีเคน(Tridecane) ส่วนสารชนิดรองคือสารเบนโซฟีนอล(benzophenone) นอกจากนี้มีสารที่พบเฉพาะในตัวผู้ ได้แก่ อันดีเคน(undecane) เตตระดีเคน (tetradecane) , 3 เมทิลไตรดีเคน (3-methyl-tridecane) และไซโคลเพนตะดีเคน(cyclopentadecane) (Zhao et al.,2012) ต่อม MTGs นี้จะมีท่อเชื่อมต่อด้านข้างลำตัวบริเวณส่วนท้ายปลายสุดของท้อง มวนจะปล่อยน้ำพิษดังกล่าวออกมาเมื่อถูกรบกวนหรือใช้ป้องกันภัย (chemical defenses) สารนี้ปกติมวนลำไยจะปล่อยออกมาป้องกันอันตรายจากสัตว์ต่างๆ เช่น นก กิ้งก่า หรือสัตว์ล่าเหยื่อต่างๆ ถ้าของเหลวถูกผิวหนังคนจะปวดแสบปวดร้อน ทำให้บริเวณนั้นมีสีน้ำตาลไหม้ บางรายที่แพ้มากผิวหนังจะพองและหลุดลอกออกไป นอกจากนี้ของเหลวนี้จะทำให้ผิวเปลือกของลำไยมีสีคล้ำซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการส่งออก

วงจรชีวิตของมวนลำไย

มวนลำไยเหมือนแมลงกลุ่มมวนที่อยู่ในอันดับ เฮมิพเทอร่าทั่วไปคือระยะตัวอ่อนการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละเล็กทีละน้อย กล่าวคือมีเฉพาะระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะไม่มีระยะพักตัวที่เรียกว่าระยะดักแด้ (pupa) เหมือนแมลงกลุ่มด้วงและกลุ่มผีเสื้อ ตัวอ่อนของแมลงกลุ่มมวนจะเรียกว่านีม (nymphs) ระยะตัวอ่อนรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัย ยกเว้นขนาดจะเล็กกว่า และยังไม่มีปีกให้เห็น

  1. ระยะไข่ มวนลำไยจะวางไข่เป็นกลุ่มหรือเรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ ไข่ลักษณะกลมมีขนาดประมาณ 3 มม. แต่ละกลุ่มพบตั้งแต่ 3 – 15 ฟอง ไข่ที่วางใหม่ๆจะมีสีเขียว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล และเมื่อใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ระยะไข่ใช้เวลา 11 – 13 วัน

  2. ระยะตัวอ่อน มี 5 วัย วัยที่ 1 หลังจากฟักออกจากไข่ใหม่ๆตัวอ่อนของมวนลำไยจะมีสีแดง หลังจากนั้น 1.5 – 2.0 ชั่วโมง จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ต่อมาจะเป็นสีเทา มีแถบสีขาวพาดยาวตามลำตัว 3 แถบ หลังจากลอกคราบครั้งที่ 1 ตัวอ่อนจะมีสีแดงสด ลักษณะลำตัวคล้ายตัวเต็มวัย จะแตกต่างกันที่สีและขนาด ตัวอ่อนวัยที่ 5 ก่อนลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย จะมีสีเขียวอ่อน ระยะเวลาตัวอ่อนแต่ละวัยใช้เวลาประมาณ 14 วัน ระยะตัวอ่อนทั้งหมดใช้เวลา 5 – 8 สัปดาห์ ตัวอ่อนพบได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม แต่จะพบมากช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

  3. ระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยของมวนลำไยมีแผ่นแข็งทางตอนท้ายของด้านสันหลังของปล้องอก หรือแผ่นแข็งทรงสามเหลี่ยม (scutellum) อยู่ระหว่างฐานปีกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแมลงกลุ่มมวน มีขนาดประมาณ 3 ซม. สีน้ำตาลอมส้ม อาศัยดูดกินยอดอ่อนและผลลำไย เมื่อเก็บเกี่ยวผลลำไยแล้ว มวนลำไยจะหลบซ่อนอยู่บนต้นลำไย จนถึงระยะลำไยเริ่มแทงช่อดอกในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ตัวเต็มวัยของมวนลำไยจะผสมพันธุ์และวางไข่อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน แต่จะพบมากในช่วงเดือนมีนาคม ตัวเมียวางไข่ได้ 98 – 297 ฟอง

การกำจัดมวนลำไย

  1. การกำจัดมวนลำไยแบบวิธีเขตกรรม ควรตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ใบหนาทึบจนเกินไป เพราะจะเป็นที่หลบซ่อน และพักอาศัยของตัวเต็มวัยเพื่ออยู่ข้ามฤดู

  2. การกำจัดมวนลำไยแบบการใช้วิธีกล โดยการใช้วิธีจับตัวอ่อน ตัวเต็มวัยและกลุ่มไข่มาทำลาย นอกจากนี้ตัวเต็มวัยของมวนลำไยสามารถนำมาประกอบอาหารได้ด้วย

  3. การกำจัดมวนลำไยแบบการใช้ชีวภัณฑ์ ที่ประเทศจีนมีรายงานว่าการใช้ชีวภัณฑ์เชื้อราขาวบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) และเชื้อราเพซิโลไมซีส(Paecilomyces lilacinus) มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดมวนลำไยโดยเฉพาะระยะตัวอ่อน

  4. การกำจัดมวนลำไยแบบการใช้สารเคมี คาร์บาริล 85%WP อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และกลุ่ม 3 แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5%EC อัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เนื่องจากเป็นคำแนะนำที่ใช้กันมานาน ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพกำจัดมวนลำไยตามกลไกการออกฤทธิ์ ได้แก่

  • กลุ่ม 1 ไดอะซินอน 60%EC โพรฟีโนฟอส 50%EC ไตรอะโซฟอส 40%EC มาลาไทออน 83%EC(ชนิดใดชนิดหนึ่ง) อัตรา 30-40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 2 ฟิโพรนิล 5%SC อัตรา 20-30 ซีซี

  • กลุ่ม 4 อิมิดาโคลพริด 10%SLอัตรา 20-30 ซีซี อิมิดาโคลพริด 70%WG อัตรา 5 -10 กรัม ไทอะมีทอกแซม 25%WG อัตรา 5 -10 กรัม อะซีทามิพริด 20%SP อัตรา 10 -15 กรัม โคลไทอะนิดิน 16%SG อัตรา 10 -15 กรัม

  • กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน 25%WP อัตรา 20-30 กรัม หรือ 40%SCอัตรา 15-20 ซีซี(ยับยั้งการลอกคราบของตัวอ่อน)

หมายเหตุ การผลิตลำไยส่งออกควรจัดการตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice; GAP) กรณีการใช้สารเคมีในการกำจัดมวนลำไยควรใช้อัตราตามฉลาก และเกษตรกรควรทิ้งช่วงก่อนเก็บเกี่ยวหลังจากการพ่นสารครั้งสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 7 วัน นอกจากนี้ควรงดพ่นสารเคมีช่วงลำไยดอกบาน หรือถ้าจำเป็นควรพ่นตอนเย็นหลังจากผึ้งกลับรังไปแล้ว เพื่อลดอันตรายต่อผึ้งที่จะมาช่วยผสมเกสร

เรียบเรียงโดย อาจารย์สุเทพ สหายา

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

กลุ่มกีฏและสัตววิทยา. 2553. การป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2553. เอกสารวิชาการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 303 หน้า.

จริยา วิสิทธิ์พานิช ชาตรี สิทธิกุล และเยาวลักษณ์ จันทร์บาง. 2545. โรคและแมลงศัตรูลำไย ลิ้นจี่ และ มะม่วง. หจก.ธนบรรณการพิมพ์, เชียงใหม่. 308 หน้า.

บุษบง มนัสมั่นคง. 2554. แมลงศัตรูลำไยและลิ้นจี่. หน้า 39 – 51. ใน แมลงศัตรูไม้ผล. เอกสารวิชาการกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.

สุเทพ สหายา. 2561. รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช. หจก.เฟรม-อัพดีไซน์.
กรุงเทพฯ. 108 หน้า

Xiang M., Junjie H., and Gecheng O. 2017. The isolation and identification of pathogenic fungi from Tessaratoma papillosa Drury (Hemiptera: Tessaratomidae). PeerJ. 2017; (Published online) https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5633030/

Zhao, Dongxiang, Gao J., Wang Y., Jiang J. and Li, R. 2012. Morphology and Volatile Compounds of Metathoracic Scent Gland in Tessaratoma papillosa (Drury) (Hemiptera: Tessaratomidae) JO - Neotropical entomology VL - 41. https://www.researchgate.net/publication/255958970_Morphology_and_Volatile_Compounds_of_Metathoracic_Scent_Gland_in_Tessaratoma_papillosa_Drury_Hemiptera_Tessaratomidae

Wikipedia, the free encyclopedia. 2020. Tessaratomidae.

20 Likes

ยังเอาอยู่แต่เพลี้ยแป้ง
นี่สิพ่นยาแล้วตายยาก

1 Like

พวกเราต้องสู้ปีน่าจะดีขึ้น