ทุเรียนคุณภาพดี และทุเรียนมาตรฐาน

ทุเรียนคุณภาพดี และทุเรียนมาตรฐาน

ทุเรียนคุณภาพดี คือ ทุเรียนที่สุกแก่มีคุณภาพดีทั้งภายนอกที่เป็นลักษณะภายนอกที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสด้วยสายตา สัมผัสด้วยมือ การดมกลิ่น และภายในที่มีลักษณะเนื้อหนา แน่นกรอบ อ่อน นุ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติ หวานเปรี้ยว

การปลูกทุเรียนตามแนวเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) โดยแหล่งผลิต และน้ำที่ใช้ในการปลูกทุเรียนต้องไม่มีสิ่งปนเปื้อนจากสารพิษหรือธาตุโลหะหนัก การใช้สารเคมีที่ถูกต้องรวมทั้งไม่พ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวทุเรียนช่วงสุกแก่ที่เหมาะสมและได้การรับรองแปลงแหล่งผลิต (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร

พันธุ์ทุเรียน

พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกในประเทศไทย และเป็นทุเรียนพันธุ์คุณภาพดี พันธุ์ทุเรียนแบ่งออกเป็น 5 พันธุ์ ดังนี้

  1. ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จัดเป็นทุเรียนพันธุ์หนักปานกลาง ผลขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการส่งออก

  • คุณภาพภายนอกของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีรูปทรงกลมกระบอกยาว ก้นผลเรียวแหลมเป็นติ่งแบบก้นหอย เปลือกบาง ฐานหนามใหญ่ หนามเล็กตรง ปลายแหลม ขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 2.0-5.0 กิโลกรัม ผิวสีเขียว หรือเหลืองอมน้ำตาล

  • คุณภาพภายในของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ภายในเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน ละเอียดปานกลาง เมล็ดเล็กลีบส่วนใหญ่ รสชาติหวานมันแหลม กลิ่นอ่อน ความหวาน สามารถรับประทานที่ความสุกแก่ 70-100% แต่ความอร่อยมากควรเป็น 85-90%

  1. ทุเรียนพันธุ์กระดุม

ทุเรียนพันธุ์กระดุม เป็นทุเรียนพันธุ์เบา ผลขนาดกลาง เหมาะสำหรับการส่งออกเพราะสุกแก่เร็ว

  • คุณภาพภายนอกของทุเรียนพันธุ์กระดุม มีรูปทรงกลมแป้น ส่วนหัวและก้นป้าน พูใหญ่เด่นชัด เปลือกบาง สีเขียว ฐานหนามเล็ก หนามเล็กตรง ปลายแหลม ขนาดกว้างประมาณ 23 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร น้ำหนักผลตั้งแต่ 1.0-3.0 กิโลกรัม ผิวสีเขียว

  • คุณภาพภายในของทุเรียนพันธุ์กระดุม ภายในเนื้อมีสีเหลืองเข้ม ละเอียด เมล็ดค่อนข้างโต รสชาติหวานแหลม กลิ่นหอม ความสุกแก่ที่อร่อยมากควรเป็น 85-90%

  1. ทุเรียนพันธุ์ชะนี

ทุเรียนพันธุ์ชะนี จัดเป็นทุเรียนพันธุ์หนักปานกลาง ผลขนาดใหญ่ปานกลาง เหมาะสำหรับการบริโภคภายในและการส่งออก

  • คุณภาพภายนอกของทุเรียนพันธุ์ชะนี มีรูปทรงกลมกระบอกยาวรี ส่วนหัวรีสอบเข้า ก้นผลป้าน เปลือกบาง ฐานหนามใหญ่ หนามใหญ่ตรง ปลายหนามแหลมพูใหญ่เด่น อาจมีพูแป้วหรือไม่เต็มพูขนาดกว้างประมาณ 24 เซนติเมตร ยาว 28 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 2.0 -5.0 กิโลกรัม ผิวสีเขียว หรือเหลืองอมน้ำตาล

  • คุณภาพภายในของทุเรียนพันธุ์ชะนี ภายในเนื้อหนาสีเหลืองเข้ม ละเอียดเหนียว เมล็ดปานกลาง มีเมล็ดลีบ รสชาติหวานมันแหลมมัน กลิ่นหอมฉุน สามารถรับประทานที่ความสุกแก่ที่มีความอร่อยมากควรเป็น 85-90%

  1. ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว จัดเป็นทุเรียนพันธุ์หนัก ผลขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการบริโภคภายในและส่งออก

  • คุณภาพภายนอกของทุเรียนพันธุ์ก้านยาว มีรูปทรงกลมรี ก้นผลเรียวคล้ายผลลิ้นจี่ ฐานหนามใหญ่ปานกลาง หนามยาวเล็กตรง ปลายแหลม พูไม่เด่นชัด ก้านยาวมาก ขนาดกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 1.5-4.0 กิโลกรัม ผิวสีเขียวเข้ม แก่จัดมีนวล

  • คุณภาพภายในของทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ภายในเนื้อละเอียดมาก แห้ง สีเหลืองอ่อน เมล็ดค่อนข้างโต มีโอกาสพบเมล็ดลีบค่อนข้างน้อย รสชาติหวานมันแหลม กลิ่นหอมนวลอ่อนๆเฉพาะตัว รสชาติที่อร่อยมากควรเป็นความสุกแก่ 85-90% เนื้อแห้งต้องงดให้น้ำก่อนตัด

  1. ทุเรียนพันธุ์พวงมณี

ทุเรียนพันธุ์พวงมณี จัดเป็นทุเรียนพันธุ์ปานกลาง ผลขนาดเล็กเหมาะสำหรับการบริโภคภายในและส่งออก

  • คุณภาพภายนอกของทุเรียนพันธุ์พวงมณี มีรูปทรงกลมรี ก้นผลเรียว ฐานหนามเล็ก หนามยาวเล็กตรง ปลายแหลม พูไม่เด่นชัด ก้านขั้วยาว ขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาว 18 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 1.0-3.0 กิโลกรัม ผิวสีเขียวเข้ม แก่จัดมีนวล

  • คุณภาพภายในของทุเรียนพันธุ์พวงมณี ภายในเนื้อละเอียดเนียนมาก สีเหลืองเข้มอมส้ม เมล็ดค่อนข้างโต มีโอกาสพบเมล็ดลีบค่อนข้างน้อย รสชาติหวานแหลมมัน กลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว รสชาติที่อร่อยมากควรเป็นความสุกแก่ 85-90% เนื้อแห้งต้องงดให้น้ำก่อนตัด

การปลูกทุเรียนตามแนวเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)

  • แหล่งผลิต ดินต้องไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน และหรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมีการวิเคราะห์ตัวอย่างดินก่อนดำเนินการปลูกทุเรียน

  • แหล่งน้ำ ที่ใช้ต้องสะอาด มีความเหมาะสมกับทุเรียนไม่มีโลหะหนักปนเปื้อน และหรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมีการนำน้ำไปวิเคราะห์ก่อนทำการเพาะปลูกทุเรียน

  • มีแผนควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนการผลิตตาม GAP

  • การจัดการและการใช้สารเคมี ต้องถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ตามขบวนการและขั้นตอนการผลิต มีสถานที่เก็บรักษาสารเคมี ปลอดโปร่ง มิดชิดปลอดภัย ทั้งนี้ผลทุเรียนต้องมีคุณภาพดี ปลอดภัยและไม่มีสารเคมีตกค้าง ตามมาตรฐานกำหนด

  • การเก็บเกี่ยวทุเรียน มีวิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียน และสังเกตุความสุกแก่ของทุเรียนที่เหมาะสมได้ ดังนี้

การนับอายุ หลังติดผล

  • ดูลักษณะภายนอก ก้านขั้วแห้งสาก ปลิงบวม พูโต ฐานหนามแบน เส้นแบ่งกลางพู (เส้นสาแหรก) เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเด่นชัด ผิวมีไขนวล (แก่จัด)

  • ถ้าดีดหรือที่กลางพูจะมีเสียงโปร่ง

  • สังเกตุได้จากตารางแสดงดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียนวิเคราะห์จากลักษณะภายใน*

  • ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ให้ถูกต้องและเหมาะสม มีดบางคมตัดขั้ว

  • คัดขนาดทุเรียนตามเกรดมาตรฐาน มกษ. 3-2556 หรือมาตรฐานคู่ค้า

  • บรรจุกล่องหรือภาชนะสะอาดแข็งแรง พร้อมระบุ พันธุ์ ขนาด การเก็บรักษา ที่อยู่แหล่งผลิตเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ

  • กรณีต้องการบ่มด้วยอีเธล ต้องมีฤทธิ์ตกค้างไม่เกิน 2ppmหรือ 2มก./กก.) มกษ.9002-2556

ทุเรียนคุณภาพ 3 ชั้น

  • ทุเรียนชั้นพิเศษ คือ ทุเรียนคุณภาพดีที่สุด ตรงตามพันธุ์ หนาม พูสมบูรณ์ ไม่น้อยกว่า พู ไม่ผิดรูปทรง ไม่มีตำหนิ ยกเว้นแต่ผิวเผินเล็กน้อย ที่ไม่มีผลต่อลักษณะภายนอก และคุณภาพเนื้อทุเรียน

  • ทุเรียนชั้นหนึ่ง คือ ทุเรียนคุณภาพดี ตรงตามพันธุ์ ผิดปกติและตำหนิได้เล็กน้อย ไม่น้อยกว่า 3 พู ส่วนอีก 2 พูไม่สมบูรณ์ และไม่ทำให้รูปทรงผลทุเรียนเสียไป ตำหนิเล็กน้อยที่เกิดขึ้นหรือหลังจากการเก็บเกี่ยวทุเรียนหรือการขนส่ง แผลตื้นๆหรือหนามหักช้ำตำหนิที่ผิวโดยรวมไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวแต่ไม่กระทบต่อลักษณะภายนอกและเนื้อภายใน

  • ทุเรียนชั้นสอง คือ ทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เข้าชั้นที่สูงกว่า แต่มีคุณภาพตามข้อกำหนดขั้นต่ำตาม มกษ.3-2556 และมีความผิดปกติหรือตำหนิได้ มีพูไม่น้อยกว่า 2 พูและพูไม่สมบูรณ์ 2 พูไม่ทำให้รูปทรงเสียไปตำหนิเล็กน้อยที่เกิดหรือหลังการเก็บเกี่ยวหรือการขนส่ง แผลตื้นๆหรือหนามหักช้ำตำหนิที่ผิวโดยรวมไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวแต่ไม่กระทบต่อลักษณะภายนอกและเนื้อภายใน

ขนาดทุเรียน

ขนาดของทุเรียนที่ได้มาตราฐาน หรือขนาดของทุเรียนคุณภาพดี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขนาดทุเรียนทางการค้า ขนาดทุเรียนตาม มกษ.3 - 2556 และเกรดทุเรียนทางการค้า (กรณีหมอนทอง)

ขนาดทุเรียนทางการค้า แบ่งตามชนิดพันธุ์ทุเรียน และน้ำหนักกิโลกรัมได้ ดังนี้

  • ทุเรียนพันธุ์ชะนี น้ำหนัก <1.5 และ >4.5

  • ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง น้ำหนัก <1.5 และ >6.0

  • ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว น้ำหนัก <1.5 และ >4.0

  • ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง น้ำหนัก <.3 และ >4.0

  • ทุเรียนพันธุ์ทองนวลจันทร์ น้ำหนัก <1.5 และ >4.5

  • ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล น้ำหนัก <1.0 และ -

  • ทุเรียนพันธุ์พวงมณี น้ำหนัก <1.0 และ -

  • ทุเรียนพันธุ์อื่นๆทางการค้า น้ำหนัก <0.5 และ -

ขนาดทุเรียนตาม มกษ. 3 – 2556

แบ่งตามรหัสขนาด และน้ำหนักกิโลกรัมได้ ดังนี้

  • รหัส 1 น้ำหนัก > 4 กิโลกรัม

  • รหัส 2 น้ำหนัก > 3-4 กิโลกรัม

  • รหัส 3 น้ำหนัก > 2-3 กิโลกรัม

  • รหัส 4 น้ำหนัก > 1-2 กิโลกรัม

  • รหัส 5 น้ำหนัก 0.5-1 กิโลกรัม

ขนาดทุเรียนตามเกรดทางการค้า (กรณีหมอนทอง)

แบ่งตามเกรดคุณภาพ น้ำหนัก และจำนวนพูได้ ดังนี้ (เงื่อนไข ทุเรียนต้องเก็บที่สุกแก่ 80% ผิวสีเขียว)

  • เกรดคุณภาพ A น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม 4-5พูเต็ม หรือ 3 พูและอีก 1-2 เม็ด

  • เกรดคุณภาพ B น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม 3 พู 1เม็ด หรือ 2 พูและอีก 1-2 เม็ด

  • เกรดคุณภาพ C น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม เสียทรง หรือแป้ว อาจมี 2พู 1เม็ด หรือ 3 พูๆละ1เม็ด หรือทั้งลูก มีแค่ 4 เม็ด

  • เกรดคุณภาพ A-B น้ำหนัก 2-7 กิโลกรัม

  • เกรดคุณภาพ C น้ำหนัก 1.7-7 กิโลกรัม

เรียบเรียงโดย อาจารย์มนู โป้สมบูรณ์

หมอนทอง

ตารางแสดงดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียน(ภายนอก) ตารางแสดงดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียน(ภายใน)

16 Likes

ประโยชน์ของ GAP

1.ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมีคุณภาพ
2.เป็นแนวทางการผลิต เพื่อประกันว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพปลอดภัย ตรงตามที่มาตรฐานกำหนด และผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อตการผลิต
3.ช่วยลดข้อผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่จะผลิตไม่ได้มาตรฐาน
4.ป้องกันไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งขจัดปัญหามิให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน
5.ส่งผลต่อคุณภาพในระยะยาว และช่วยลดต้นทุนการผลิต
6.มีความสะดวก และง่ายต่อการติดตามข้อมูล
7.มีการควบคุม และรักษามาตรฐานความสะอาด และถูกสุขอนามัย
8.สร้างความสะดวกปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน
9.ช่วยสร้างทัศนคติที่ดี และถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
10.ความคล่องตัวในการดูแล การจัดการ และการประเมินงาน

1 Like

ต้องการหาซื้อพันธุ์ทุเรียนได้จากไหนครับ

ขอจดทะเบียนได้ที่ไหนค่ะ