"เข้มแข็ง" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสำรวจความเสียหายพายุฤดูร้อน พร้อมชี้แจงนโยบายช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง

“เข้มแข็ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสำรวจความเสียหายพายุฤดูร้อน พร้อมชี้แจงนโยบายช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยามีการแจ้งเตือนภัยพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 21-24 มีนาคม 2564 เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกอย่างรุนแรง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตือนภัยเกษตรกรและคอยเฝ้าระวังเหตุการณ์ดังกล่าว
.
หลังจากเกิดภัยธรรมชาติเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกรมการเกษตร
เข้าสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนดังกล่าวจากรายงานล่าสุด
(อ้างอิงข้อมูลจากสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร) มีดังนี้ อำเภอขลุง พื้นที่ 4 ตำบล 13 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 20 ราย ต้นทุเรียนโค่นล้ม กิ่งหักฉีก ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่นประมาณ 90 ตัน พื้นที่ราว 300 ไร่ อำเภอท่าใหม่ พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 12 ราย ต้นทุเรียนโค่นล้ม 151 ต้น ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่นประมาณ 8 ตัน พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน และอำเภอโป่งน้ำร้อน พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 1 ราย ต้นลำไยโค่นล้ม จำนวน 1 ต้น รวมพื้นที่ประสบภัย 4 อำเภอ 7 ตำบล 16 หมู่บ้าน ต้นทุเรียนโค่นล้ม 151 ต้น ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่น 98 ตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 16 ล้านบาท (ทุเรียนราคา ก.ก.ละ 160-170 บาท)
.
โดยสำนักงานเกษตรอำเภอได้มีการเสนอแนวทางในการแก้ไขเบื้องต้นสำหรับผลผลิตทุเรียนที่ร่วงนั้นว่าอย่าตัดงวงทุเรียนออก เนื่องจากมีพ่อค้าทุเรียนรับซื้อทุเรียนตามชนิดพันธุ์เพื่อนำไปคัดแยกและบ่มสุกต่อไป อีกทั้งยังสามารถนำเนื้อทุเรียนที่ร่วงหล่นไปทำไอศกรีมรสชาติทุเรียนได้ แต่หากผลใดที่เสียหายมากเกษตรกรสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
.
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอยังคงยึดตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเรื่อง "เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2562"โดยมีแนวทางดังนี้ เมื่อผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว เกษตรกรที่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามเขตที่ประกาศจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร “ก่อนเกิดภัยพิบัติ” จึงจะได้รับการช่วยเหลือได้ไม่เกิดครัวเรือนละ 30 ไร่ ซึ่งมีการกำหนดอัตราการช่วยเหลือดังนี้
ข้าว 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ และพืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาทต่อไร่

1 Like