ม.เกษตร ต่อยอดยางพารา ผลิตกาวน้ำยางพารา เพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราไทย
.
“กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ, ฟินอลิก เรซิน และ กัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” งานวิจัยโดย ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังมีประสบการณ์ในด้านการผลิตแปรรูปยางพาราในระดับโลก
.
งานวิจัยนี้เป็นการนำน้ำยางพาราธรรมชาติมาผสมกับสารยึดติดในกลุ่มฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซิน โดยมีการปรับสูตรน้ำยางให้ข้น เพื่อทำให้แข็งตัวเร็วขึ้นเมื่อทาลงบนวัสดุ อีกทั้งยังมีการเติมสารหน่วงไฟ เพื่อทำให้การลามของไฟช้าลง โดยคุณสมบัติเหล่านี้สามารถเทียบเท่าได้กับกาวสังเคราะห์ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนายางพาราไทย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยางพาราไทยอีกด้วย
.
ยังไม่จบเพียงเท่านั้น จุดเด่นของของกาวน้ำยางพาราสูตรนี้คือ ไม่ต้องนำเข้าสารพอลิเมอร์สังเคราะห์จากต่างประเทศในการผลิต และกาวน้ำยางพารานี้ไม่มีส่วนประกอบของสารพิษสูง เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ ที่มีกลิ่นเหม็นรบกวน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
.
โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เลขที่ 10454 เป็นที่เรียบร้อย ในชื่อผลงานวิจัย “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ, ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” และยังได้ลงนามต่อยอดและพัฒนางานวิจัยชิ้นดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ เรื่อง “การวิจัยกาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้า สำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า” กับบริษัท สามพิม จำกัด และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งได้รับทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการดังกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_177750