เรียนรู้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ได้ผลดี ปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค!
ปัญหาหนักใจของเกษตรกรไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็คงไม่พ้นเรื่องการจัดการศัตรูพืช ที่ทั้งยากและอันตรายจากสารเคมี รวมทั้งหากจัดการอย่างผิดวิธีก็ทำให้แมลงดื้อยาจนจัดการต่อไม่ได้ ดังนั้นเกษตรกรสามารถใช้อีกหนึ่งวิธีอย่างการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือ Integrated Pest Management (IPM) ซึ่งหมายถึงการควบคุมศัตรูพืชด้วยโดยใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อไม่ให้ก่อความเสียหายแก่ผลผลิต มุ่งเน้นที่ความประหยัดและปลอดภัยแก่เกษตรกรและผู้บริโภค มีหลากหลายวิธีการให้ใช้ร่วมกัน ดังนี้
.
การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีเขตกรรม
วิธีจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีเขตกรรม หมายถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อให้พืชทนกับการเข้าทำลายของศัตรูพืช เช่น
-
การปลูกพืชหมุนเวียน ที่จะช่วยตัดแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง
-
การปลูกพืชผสมก็ช่วยตัดแหล่งอาหารและจำกัดบริเวณการระบาด
-
การเลื่อนเวลาปลูก เพื่อเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของแมลง
-
การเลือกพันธุ์ที่มีความต้านทานแมลงสูง เป็นต้น
.
การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีกล
วิธีจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีกล คือการลดปริมาณศัตรูพืชด้วยวิธีหรือเครื่องมือง่ายๆ ที่ใช้ได้ทั้งแรงคนหรืออุปกรณ์ ดังนี้
-
จับทำลายโดยใช้มือ หรือเขย่าต้นให้แมลงร่วงหล่นแล้วทำลาย
-
การใช้ตาข่าย หรือมุ้งคลุมแปลง
-
การใช้กับดักหรือตาข่ายเพื่อดักจับแมลง หรือศัตรูพืชประเภทอื่นๆ เช่น นก หนู ค้างคาว เป็นต้น
.
การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีฟิสิกส์
วิธีจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีฟิสิกส์ หมายถึงการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการควบคุมแมลง เช่น
-
การใช้รังสีกำจัดศัตรูพืชที่ติดอยู่บนผลผลิตก่อนส่งออก
-
เครื่องมือสร้างเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำไล่แมลง
-
การใช้ความร้อนไล่แมลง ด้วยการอบดิน หรืออบผลผลิตด้วยไอร้อน
.
การจัดการศัตรูพืชด้วยชีววิธี
วิธีจัดการศัตรูพืชด้วยชีววิธีนั้นหมายถึงการใช้ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชเพื่อลดปริมาณลง หรือการใช้สารธรรมชาติ แบ่งเป็น 4 ประเภทหลักคือสารธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์
-
สารธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากเมล็ดสะเดา ตะไคร้หอม หางไหล (โล่ติ๊น) พลูป่า ยาสูบ บอระเพ็ด เป็นต้น
-
ตัวห้ำ คือแมลงที่กัดกินแมลงชนิดอื่นๆ หลายชนิด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันกับเหยื่อ เช่น แมลงปอ แมลงช้างปีกใส แมงมุม เป็นต้น
-
ตัวเบียน คือแมลงที่เข้าไปอาศัยอยู่ในแมลงที่เป็นเหยื่อเพื่อเจริญเติบโต จากนั้นแมลงเหยื่อก็จะตาย ซึ่งตัวเบียนมือความเฉพาะเจาะจงกับเหยื่อ ทำลายแมลงได้ชนิดเดียว เช่น แตนเบียนไข่เพลี้ยกระโดด แตนเบียนหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น
-
เชื้อจุลินทรีย์ เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในแมลง เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส เป็นต้น โดยเชื้อราที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือเชื้อบิววาเรีย ที่ไม่มีสารตกค้าง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
โดยปกติ ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ควรมีมากกว่าแมลงศัตรูพืช 5-6 เท่า ดังนั้นหากปล่อยให้ศัตรูพืชระบาดในไร่แล้ว ก็ต้องใช้ศัตรูธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนสูง วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับการป้องกันก่อนจะระบาดเพื่อควบคุมปริมาณ โดยศัตรูธรรมชาติเหล่านี้สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะอาจมีจำนวนไม่เพียงพอในธรรมชาติ
ก่อนการเลือกใช้งานศัตรูธรรมชาติในการจัดการศัตรูพืช จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับสวนของตนก่อน ทั้งศัตรูพืช ชนิดพืชที่ปลูก และตัวศัตรูธรรมชาติเอง จากนั้นควรใช้ศัตรูธรรมชาติหรือวิธีจัดการศัตรูพืชอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และต้องระวังในการพ่นสารเคมี เพราะอาจทำลายศัตรูธรรมชาติแทนที่จะเป็นตัวศัตรูพืชได้
.
ด้วยวิธีการจัดการศัตรูพืชทั้งหมดข้างต้น ทำอย่างผสมผสานกันหลากหลายวิธี เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแต่ยาฆ่าแมลงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำลง รวมถึงปลอดภัยทั้งกับตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคอีกด้วย
.
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.opsmoac.go.th
.
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
GAP ใบเบิกทางเกษตรส่งออก ห้ามพลาดถ้าอยากเป็นเกษตรกรมืออาชีพ อ่านเลย! GAP ใบเบิกทางเกษตรส่งออก ห้ามพลาดถ้าอยากเป็นเกษตรกรมืออาชีพ อ่านเลย!
“เกษตรแนวตั้ง” ทำเกษตรในพื้นที่จำกัด ให้ได้ผลผลิตดี "เกษตรแนวตั้ง" ทำเกษตรในพื้นที่จำกัด ให้ได้ผลผลิตดี
“ไร่นาสวนผสม” หนึ่งทางเลือกที่น่าลอง "ไร่นาสวนผสม" หนึ่งทางเลือกที่น่าลอง