ทุกคนต้องรู้! “โคกหนองนาโมเดล” แนวทางเกษตรยั่งยืน เพื่อกู้ชีพเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง อ่านเลย!
“โคกหนองนา” หรือ “โคกหนองนาโมเดล” คงเป็นคำที่เกษตรกรทุกคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งนี้ เพราะโคกหนองนาโมเดลเป็นแนวทางในการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐให้เป็นแนวทางเกษตรยั่งยืนให้แก่เกษตรกร และเป็นแผนสำรองในการจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
.
หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนการรับมือกับปัญหาภัยแล้งหลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือการทำระบบชลประทาน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังคงประสบกับปัญหาภัยแล้งและขาดความรู้ในการจัดการน้ำ ฉะนั้นโครงการโคกหนองนาโมเดลจึงได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีการผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โคกหนองนาโมเดลมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการตามชื่อโครงการ นั่นคือ โคก หนอง และนา ดังนี้
.
-
โคก เป็นพื้นที่เนินสูงที่อาศัยดินจากการขุดหนองน้ำขึ้นมาถมเป็นเนินสูง เพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และปลูก ”ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งหมายถึง การปลูกต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นร่มเงา เช่น ต้นตะเคียน ต้นยางนา ต้นเต็ง ต้นรัง เป็นต้น ปลูกไม้ผลที่บริโภคได้ เช่น ต้นมะม่วง ต้นขนุน ต้นมังคุด ต้นน้อยหน่า เป็นต้น และปลูกพืชสมุนไพรหรือพืชผักสวนครัว เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ความพอกิน พอใช้ พออยู่ และความร่มเย็น
-
หนองน้ำจืด เป็นแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับหน้าแล้ง หรือกระทั่งเป็นที่รับน้ำหลากตอนน้ำท่วม รวมถึงทำ ฝายทดน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในยามแล้ง ในหนองน้ำยังสามารถเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคได้ และทำคูคลองไส้ไก่ เป็นคลองระบายน้ำจากหนองน้ำจืด โดยขุดคลองไส้ไก่ให้คดเคี้ยวไปรอบๆ พื้นที่ เพื่อกระจายความชุ่มชื้น
-
นา เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ โดยควรยกคันนาให้สูงอย่างน้อย 1 เมตร กว้าง 1 เมตร และฐานกว้าง 2 เมตร เพื่อกั้นน้ำในช่วงน้ำหลากไม่ให้น้ำท่วมนาข้าว อีกทั้งยังสามารถปลูกพืชอาหารบนคันนา เพื่อกักเก็บน้ำและเพิ่มร่มเงาได้อีกด้วย
.
ตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการโคกหนองนาโมเดล นั่นคือ การบริหารจัดการน้ำ และการกักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรเอาตัวรอดจากปัญหาภัยแล้ง โดยหลักการสำคัญของการกักเก็บน้ำของโคกหนองนาโมเดล คือ การเก็บน้ำไว้ใน 3 ส่วนหลักๆ ตามชื่อโครงการ นั่นคือ บนโคก ในหนอง และในนา นั่นเอง ดังนี้
.
-
เก็บน้ำไว้บนโคก โดยการปลูกต้นไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และ ไม้หัวใต้ดิน เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบรากให้กระจายทั่วพื้นที่ เมื่อเวลาฝนตกลงมา ระบบรากนี้จะช่วยเก็บน้ำไว้ในดินให้พื้นที่บนโคกชุ่มชื้น
-
เก็บน้ำไว้ในหนอง หนองน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้ ซึ่งก่อนขุดเกษตรกรจะต้องคำนวณปริมาณน้ำที่หนองสามารถเก็บได้ โดยการขุดหนองจะต้องขุดเป็นขั้น เพื่อให้มีระบบตื้นลึกที่หลากหลาย ดังนั้นแสงแดดจะได้ส่องถึงพื้นที่ด้านล่างช่วยให้พืชน้ำเจริญเติบโต และเป็นแหล่งอาหารของเหล่าสัตว์น้ำ
-
เก็บน้ำไว้ในนา โดยการยกคันนาให้สูงและกว้าง เพื่อเก็บน้ำไว้ในนาในช่วงแล้ง และเพื่อกั้นน้ำในช่วงน้ำหลากไม่ให้น้ำท่วมนาข้าว และการปลูกพืชไว้บนคันนายังสามารถช่วยกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นได้อีกด้วย
.
โคกหนองนาโมเดล เป็นการพัฒนาและจัดการพื้นที่เกษตรให้เป็นพื้นที่เกษตรยั่งยืน โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาชาวบ้านและธรรมชาติที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งโคกหนองนานี้จะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศไทยได้
.
แต่กระนั้นในสังคมก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการโคกหนองนาโมเดล ถึงเรื่องของงบประมาณที่ต้องใช้ในการทำ ว่าต้องใช้งบประมาณที่เยอะมาก ทั้งแรงเงินและแรงงาน และเรื่องของผลประโยชน์ซ่อนเร้นต่างๆ ฉะนั้นหากเกษตรกรท่านใดอยากจะเริ่มทำโคกหนองนาโมเดลนี้ อาจจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ผลประโยชน์ที่ได้รับ และกำลังจ่ายของตน รวมถึงควรพิจารณาพื้นที่เกษตรของตนให้ดีก่อนตัดสินใจเริ่มทำ
.
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองสุโขทัย ในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย https://district.cdd.go.th/muang-sukhothai/2020/01/09/โคก-หนอง-นา-โมเดล-คือ-อะไร/
.
เกษตรกรสามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ หรือวิธีรับมือกับภัยแล้งจาก Kaset Go ได้ ดังนี้
พืชขาดน้ำหน้าแล้งทำอย่างไร? อ่านเลย! แนวทางบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งจากอ.มนู โป้สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจาก Kaset Go พืชขาดน้ำหน้าแล้งทำอย่างไร? อ่านเลย! แนวทางบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งจากอ.มนู โป้สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจาก Kaset Go
เตรียมรีบมือกับหน้าแล้งด้วยการ “ขุดบ่อน้ำ” เตรียมรีบมือกับหน้าแล้งด้วยการ “ขุดบ่อน้ำ”