มีพื้นที่เท่านี้ ปลูกอะไรดี? แนะนำขนาดพื้นที่สำหรับเกษตรกรมือใหม่ อ่านก่อนวางแผนทำการเกษตร
สำหรับเกษตรกรมือใหม่ การวางแผนทำการเกษตรตั้งแต่ต้นว่าจะเริ่มปลูกอะไรถือเป็นเรื่องน่าเวียนหัวไม่น้อย เพราะพืชที่สามารถทำการเกษตรได้นั้นมีทั้งไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก โดยพืชทั้งสามชนิดนี้ต้องการขนาดพื้นที่และจุดคุ้มทุนที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ Kaset Go ขอรวบรวมข้อมูลที่เกษตรกรควรรู้ ก่อนเริ่มต้นทำเกษตรไว้ในที่เดียว!
.
ก่อนวางแผนทำการเกษตร ต้องคำนึงถึงอะไรก่อนบ้าง?
สิ่งแรกที่เกษตรกรมือใหม่ควรคำนึงถึงเมื่อวางแผนทำการเกษตร คือการกำหนดเป้าหมายในการทำการเกษตร โดยเป้าหมายมีทั้งการเกษตรเพื่อยังชีพ หรือการเกษตรเพื่อการค้า ซึ่งทั้งสองเป้าหมายนั้นจะต้องมีการจัดการและการใช้พื้นที่ทำเกษตรที่ต่างกัน การเกษตรเพื่อยังชีพนั้นสามารถใช้พื้นที่ขนาดเล็กกว่า และมีการดูแลจัดการที่น้อยกว่า ไม่เน้นผลิตผลผลิตจำนวนมาก แต่ปริมาณเพียงพอยังชีพ สามารถเลือกปลูกชนิดพืชที่คนในครอบครัวบริโภคได้ตามใจชอบ ส่วนการเกษตรเพื่อการค้านั้นอาจจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากขึ้น เพื่อให้ผลิตผลผลิตได้จำนวนมาก ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และควรเลือกชนิดพืชตามความต้องการของตลาดมากกว่าความต้องการของตน สิ่งสำคัญคือควรสำรวจตลาดและความต้องการก่อนการวางแผนปลูกนั่นเอง
.
มีพื้นที่ทำเกษตรจำนวนหนึ่ง จะปลูกอะไรได้บ้าง?
ถือเป็นคำถามที่เกษตรกรมือใหม่อยากทราบก่อนการวางแผนทำการเกษตร เพราะหากมีพื้นที่ประมาณหนึ่ง และยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำเกษตรมาก่อน ก็อาจจะยังไม่เห็นภาพว่าควรปลูกอะไรในจำนวนพื้นที่ที่มี ซึ่งปัจจัยหลักที่จะต้องคำนึงถึงคือระยะปลูกของพืชแต่ละชนิด เช่น พืชผักสามารถปลูกได้ชิดกว่าไม้ผล โดยอาจจะมีระยะปลูก 15x15 เซนติเมตร หรือ 30x30 เซนติเมตร แต่ไม้ผลใช้พื้นที่มากกว่า เช่น กล้วย 2.5x2.5 เมตร หรือทุเรียน 8x8 เมตร โดยระยะปลูกนั้นจะส่งผลต่อจำนวนต้นที่ปลูกได้ในพื้นที่ เช่น 1 ไร่ ปลูกทุเรียนได้แค่ 25 ต้นเท่านั้น กลับกัน หากเลือกปลูกพืชผัก ก็จะปลูกได้เยอะกว่ามาก
สำหรับจำนวนต้นต่อไร่ที่จะปลูกได้ของพืชแต่ละชนิด ได้จัดทำเป็นตารางดังภาพ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกปลูกชนิดพืชตามขนาดพื้นที่ที่มีได้เลย
.
ทำสวนผสม เกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่ทำเกษตรเท่าไหร่ถึงจะทำได้?
การเกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่เกษตรกรที่เน้นการทำเกษตรเพื่อยังชีพ เนื่องจากสามารถปลูกชนิดพืชได้หลากหลายชนิด รวมถึงสามารถทำปศุสัตว์ได้ด้วย เหมาะสำหรับเกษตรกรที่กำลังวางแผนทำการเกษตรแบบทางเลือกเป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างการทำเกษตรผสมผสานของคุณพ่อผาย สร้อยสระกลาง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้วางแผนจากพื้นที่ 1 ไร่ดังนี้
- ที่อยู่อาศัย 60 ตารางเมตร
- สระน้ำ 8 x 15 เมตร สามารถเลี้ยงปลา 500 – 600 ตัว และสามารถใช้น้ำในการเพาะปลูก
- ทำปศุสัตว์ คือเลี้ยงไก่พื้นเมือง 10 กว่าตัว หมู 20 กว่าตัว วัวพันธุ์ดี 3 – 4 ตัว คอกวัว 70 ตารางเมตร
- เพาะปลูกผัก 30 กว่าอย่าง ผลไม้ 4 อย่าง ข้าว 1 แปลงพื้นที่ 360 ตารางเมตร มีเรือนเพาะชําพื้นที่ 15 ตารางเมตร
ทางด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างที่ทราบกันดีคือแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ตามสูตร 30:30:30:10 หากพื้นที่มี 15 ไร่ จะแบ่งได้ดังนี้
- แหล่งน้ำร้อยละ 30 หรือ 3 ไร่ ขุดลึก 4 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำในหน้าฝน ป้องกันน้ำไหลหลากท่วมไร่นา และเพื่อใช้น้ำในหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยคํานวณว่าพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้นพื้นที่ 10 ไร่ ต้องใช้น้ำอย่างน้อย 10,000 ลูกบาศก์เมตร
- ทํานาร้อยละ 30 หรือ 5 ไร่ เพื่อปลูกไว้กินเองหรือเหลือขายเป็นรายได้ คนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ยคนละ 200 กก. ข้าวเปลือก สมาชิกครอบครัวละ 3 – 4 คน ปลูกข้าว 5 ไร่ ผลผลิตไร่ละ 30 ถัง ถือว่าเพียงพอต่อการบริโภค
- ปลูกไม้ผลยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ ร้อยละ 30 หรือ 5 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย และเพิ่มรายได้
- ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมอื่นๆ ร้อยละ 10 หรือ 2 ไร่
จากการจัดสรรพื้นที่ดังนี้ จะเห็นได้ว่าสามารถทำการเกษตรได้หลากหลายชนิดเลยทีเดียว
.
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกการวางแผนทำการเกษตร ต้องขึ้นอยู่ความสามารถในการจัดการของเกษตรกร ทั้งในการจัดการพื้นที่ เงินทุน แหล่งน้ำ และการตลาด หากเกษตรกรสามารถจัดการปัจจัยที่เกี่ยวข้องนี้ได้ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรอย่างแน่นอน
.
ขอบคุณข้อมูลจาก http://breeding.dld.go.th/biodiversity/chm/research/document/biodiversity/2.pdf
.
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“เกษตรแนวตั้ง” ทำเกษตรในพื้นที่จำกัด ให้ได้ผลผลิตดี "เกษตรแนวตั้ง" ทำเกษตรในพื้นที่จำกัด ให้ได้ผลผลิตดี
GAP ใบเบิกทางเกษตรส่งออก ห้ามพลาดถ้าอยากเป็นเกษตรกรมืออาชีพ อ่านเลย! GAP ใบเบิกทางเกษตรส่งออก ห้ามพลาดถ้าอยากเป็นเกษตรกรมืออาชีพ อ่านเลย!
พืชหมุนเวียน แนวทางเกษตรเพื่อปรับปรุงดิน-เพิ่มรายได้ มีผลผลิตทั้งปี! พืชหมุนเวียน แนวทางเกษตรเพื่อปรับปรุงดิน-เพิ่มรายได้ มีผลผลิตทั้งปี!