อาการแบบนี้เกิจจากสาเหตุใดครับ

อาการแบบนี้เกิจจากสาเหตุใดครับ

12 Likes

เป็นอการเริ่มต้นของโรคใบติดหรือใบไหม้*(Leaf Blight)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani Kuehn

อาการ เกิดแผลคล้ายน้ำร้อนลวกบนใบ บริเวณกลางใบหรือขอบใบ ต่อมาแผลจะค่อยๆขยายตัวลุกลามแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างแผลไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เชื้อราจะเจริญลุกลามไปยังใบอื่นๆที่อยู่ติดกันโดยการสร้างส้นใยยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรครุนแรงจะแห้ง ร่วงลงไปแตะติดกับใบข้างล่าง และเจริญเข้าทำลายใบเหล่านั้น จนเกิดโรคลุกลามไปหลายจุดในต้น ทำให้เห็นอาการใบไหม้เป็นหย่อมๆ และใบจะค่อยๆร่วงหล่นไปยังโคนต้น
แนวทางการจัดการโรค
๑. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้เหมาะสม อย่าให้มีความชื้นในทรงพุ่มมากเกินไป
๒. กำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุของโรคในแปลงปลูกให้น้อยลง จะช่วยลดการระบาดลงได้
๓.ช่วงทุเรียนแตกใบอ่อน ควรหมั่นสำรวจการเกิดโรคอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการโรคบนกิ่งหรือใบ ควรตัดแต่งกิ่งส่วนที่เป็นโรคออกไปเผานอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ เช่น สารฯในกลุ่มรหัส 2 (ไอโพรไดโอน) กลุ่มรหัส 3 ( ไตรฟอรีน โพรคลอราช ไดฟิโนโคนาโซล อีพ๊อกซีโคนาโซล เฮกซาโคนาโซล ไมโคลบิวทานิล โพรพิโคนาโซล ทีบูโคนาโซล และ เตตราโคนาโซล ) กลุ่มรหัส 7 (คาบ๊อกซิน) กลุ่มรหัส 14 (เอทริไดอาโซล ควินโตซีน) และกลุ่มรหัส 20 (เพนไซคูรอน) เป็นต้น ) และ ผสมหรือสลับ ด้วยสารประเภทสัมผัสที่ออกฤทธิ์หลายจุด เช่น แมนโคเซ็บ โพรพิเนป และ คลอโรทาโลนิล เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ ลดโอกาสดื้อของเชื้อสาเหตุ

4 Likes

ไม่ใช่เกิดจากเคมีที่พ่นเหรอครับอาจารย์

ผมแต่งจนโปร่ง พอแตกใบอ่อนมันทิ้งใบเก่า พอพ่นยา อีก2วันอากาศร้อน ใบอ่อนร่วงทุกต้นเลยครับ

ก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าคุณทราบว่าพ่นอะไรไป และอาการเกิดพิษจะสามารถสังเกตุเห็นได้ในวันถัดจากวันพ่นสาร แต่บางครั้งถ้าเกิดพิษรุนแรงมากๆจะสังเกตุได้หลังจากพ่นสารไม่นาน
อาการเกิดพิษจากสารเคมี
๑. ปลายใบและขอบใบแห้ง แต่ส่วนมากจะเริ่มจากปลายใบ
๒.อาการที่เสียหายบนใบมักจะทำให้เนื้อใบแห้งขาว

กรณีนี้ถ้าเป็นอาการเกิดพิษจากการพ่น จัดได้ว่าสิ่งที่พ่นให้พืชมีความเป็นพิษสูงมาก

2 Likes

ผมพ่น ไดเมโทเอต คอไพรีฟอส บูโฟรเพซิน วาลิดามัยซิน ปุ๋ยน้ำ25-7-7 สาหร่าย mg ca และ s ครับ อัตราตามฉลากเลยครับ อยากทราบเป็นความรู้ว่า ตัวไหนที่เป็นพิษกับใบอ่อนครับ วันหลังจะได้ไม่เอาไปฉีดช่วงใบอ่อนอีกครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับอาจารย์

พี่พ่น ช่วงไหนคับ เช้าหรือเย็น ถ้าอากาศร้อนเกิน บวกกับการใช้ ไดเมโทเอตกับครอไพ ยิ่งผสมกันผมว่าน่าจะเกินโดส ทำให้เกิดอาการเป็นพิษต่อใบอ่อนได้ ผิดถูกยังไงก้อขออภัยด้วย เพราะยาทั้งหมดที่พี่กล่าวมา ผมใช้มาทุกตัวแล้ว แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าฉลาก เน้นพ่นช่วงเช้า หรือไม่ก้อเย็นคับ

2 Likes

จริงอย่างที่คุณว่า ผมใส่ตามฉลาก พอรวมๆกันแล้วเข้มข้นเกินแน่เลย คุณบอกแล้วผมนึกออกเลย ขอบคุณครับ

หลักการ
๑. ไม่ควรผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกับปุ๋ย หรือฮอร์โมนใดๆ เพราะประสิทธฺภาพจะลดลง
๒. ถ้าจะผสมปุ๋ยน้ำด้วย มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด จะต้องไม่มีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็น น้ำมัน
๓.ถ้าพ่นแต่ละชนิดก็คงไม่มีอะไรที่เกิดพิษกับใบอ่อน แต่เมื่อนำมาผสมกันก็เกิดพิษได้

2 Likes

ลองอ่านดูนะคะ เป็นแนวทางการผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

รูปแบบ ( Formulation ) ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ก่อนจะพูดถึงปัญหาในการผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีมีจำหน่ายและใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้

  • สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดที่เมื่อเอาสารฯใส่ลงไปในน้ำแล้วสารฯนั้นกระจายตัวออกมาอยู่ในน้ำ ในลักษณะของสารแขวนลอย (suspension) ยกตัวอย่างเช่นการเอาผงแป้งใส่ลงไปในน้ำแล้วเขย่า ผงแป้งจะกระจายตัวอยู่ในน้ำสามารถมองเห็นได้ สารในกลุ่มนี้เช่น เป็นต้นสารชนิดเม็ดผสมน้ำ (WP) สารชนิดผงผสมน้ำ( WG ) สารแขวนลอยเข้มข้น (SC) เป็นต้น

  • สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดที่เมื่อเอาสารฯใส่ลงไปในน้ำแล้วสารฯนั้นละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ(solution) ขอยกตัวอย่างเช่นการเอาเกลือใส่ลงในน้ำเมื่อคนหรือเขย่า เกลือจะละลายกลมกลืนไปกับน้ำไม่สามารถเห็นส่วนของเมล็ดหรือผงเกลือด้วยตาเปล่าได้เกิดเป็นสารละลายของเกลือ สารฯในกลุ่มนี้เช่นสารชนิดผงละลายน้ำ (SP) สารละลายเข้มข้น (SL)

  • สารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดเมื่อเอาสารนั้นใส่ลงไปในน้ำแล้วสารนั้นมีการแยกตัวไม่ผสมรวมไปกับน้ำ เป็นสารละลายน้ำมัน (emulsion) และการละลายที่เกิดขึ้นเป็นสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ยกตัวอย่างเช่นการเอาน้ำมันใส่ลงไปในน้ำแล้วเขย่า น้ำมันอาจแตกตัวออกเป็นหยดเล็กๆลอยอยู่ในน้ำ แต่ แต่ละหยดก็ยังคงสภาพเป็นน้ำมันแยกตัวจากน้ำอย่างชัดเจน สารในกลุ่มนี้ เช่น สารละลายน้ำมันเข้มข้น (EC)
    เนื่องจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้น มีหลายรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการใช้สารแต่ละรูปแบบจะมีผลต่อการเข้ากันได้ หรือ เข้ากันไม่ได้ของสาร ซึ่งได้มีข้อสรุปไว้สำหรับการผสมสารฯรูปแบบต่างๆดังนี้
    ในกรณีที่ใช้เฉพาะสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
    1.ใส่น้ำในถังที่จะผสมสารฯประมาณครึ่งถัง
    2.ละลายสารแต่ละชนิดที่ละสารเทลงไปในถังผสมสารฯ
    3.เริ่มจากสารฯที่เมื่อละลายในน้ำแล้วจะอยู่ในสภาพสารแขวนลอย (suspension) เช่นสูตร WP , WG ,WT, WS,SC เป็นต้น ก่อน และกวนให้กระจายตัวอย่างดีก่อนเติมสารอื่น
    4.ตามด้วยสารฯที่เมื่อละลายน้ำแล้วทำให้เกิดการละลายสมบูรณ์ ( solution)เช่นสูตร SL, SP เป็นต้น เป็นชุดที่สอง ตามด้วยสารจับใบถ้ามีการใช้
    5.สารละลายน้ำมันควรผสมเป็นชนิดสุดท้าย

ในกรณีที่จะใช้ปุ๋ยน้ำร่วมด้วย

  1. ต้องใช้ปุ๋ยที่เมื่อละลายในน้ำแล้วมีสภาพเป็นสารละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ
  2. สามารถผสมปุ๋ยน้ำและธาตุอาหารรองได้ในปริมาณที่รวมกันแล้วต้องไม่มากกว่า 750 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร
  3. ละลายปุ๋ยในน้ำที่ใช้ผสมสารทั้งหมดก่อน เป็นอันดับแรก แล้วใช้น้ำที่ละลายปุ๋ยแล้วสำหรับละลายสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ
  4. ห้ามผสมสารกำจัดแมลงที่เป็นสูตรละลายในน้ำมัน (emulsion)
  5. ใช้สารที่ละลายน้ำแล้วเป็นสารละลายเนื้อเดียวกับน้ำ ( solution) เพียงชนิดเดียว ร่วมกับสารที่ละลายน้ำแล้วเป็นสารแขวนลอย (suspension) กี่ชนิดก็ได้
  6. พ่นสารละลายที่ผสมแล้วทันที หากปล่อยให้สารละลายอยู่ในถังนานมากขึ้นก็จะเกิดปัญหาได้มากขึ้น

ข้อพึงระวัง

  1. ความเป็นพิษต่อพืชเกิดได้ง่ายและรุนแรงในสภาพอากาศร้อน และอากาศแห้ง ปุ๋ยน้ำและธาตุอาหารบางชนิดเช่น zinc, iron sulfate และ chelated compounds ถ้าผสมรวมกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้วอาจทำลายคุณสมบัติในการกระจายตัวของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารแขวนลอยหรือสารน้ำมันได้ อย่างไรก็ตามยูเรียสามารถเข้ากันได้กับสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้แทบทุกชนิด
  2. อย่าผสมสารที่เป็นด่างรุนแรง หรือเป็นกรดรุนแรง ด้วยกัน สารที่ออกฤทธิ์เป็นด่างหรือกรดรุนแรง เช่น sulfur, lime, lime-sulfur, zinc sulfate and lime, ferrous sulfate, and ammonium sulfate มักทำให้เกิดปัญหาการเข้ากันไม่ได้เสมอ เว้นแต่มีการระบุบนฉลาก
  3. เพิ่มความระมัดระวังเมื่อผสมสาร WP กับ สารละลายในน้ำมัน หรือปุ๋ยน้ำเนื่องจากสารเหล่านี้แขวนลอยในน้ำและอาจทำให้มีการแตกตัวของน้ำมันและทำให้เกิดการตกตะกอนหรือจับตัวเป็นก้อน ทำให้เสื่อมประสิทธิภาพ กรณีนี้อาจไม่ได้เกิดจากตัวสารออกฤทธิ์ แต่เกิดจากตัวน้ำมัน ตัวทำละลาย สารเติมแต่งตลอดจนสารจับที่ผสมอยู่ บางครั้งผลิตภัณฑ์จากบริษัทเดียวกันสามารถละลายรวมกันได้ แต่ต่างบริษัทไม่สามารถรวมกันได้
    พ่นดี
    การที่พ่นไปแล้วละอองสารฯต้องเกาะติดกับพืชได้ทั่วถึง ไม่ไหลทิ้งลงดินมากเกินไป เพราะเป็นการสิ้นเปลือง ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องพ่นที่มีมีแรงดันเหมาะสม สม่ำเสมอ ใช้ชนิดและขนาดของหัวพ่นที่เหมาะสม ตรวจสอบและเปลี่ยนหัวพ่นตามอายุการใช้งาน

วิธีการผสมสารตามขั้นตอน และ การใช้สารรูปแบบต่างๆให้ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้การควบคุมการระบาดของศัตรูพืชมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายๆแหล่งปลูกไม้ผลที่มีปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชและกล่าวว่าแมลงดื้อต่อสารหมดทุกชนิดแล้ว ลองพิจารณาวีธีการผสมสารฯที่นำเสนอเปรียบเทียบกับที่ท่านปฏิบัติอยู่ ว่าแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร จะสามารถปรับปรุงและนำไปทดสอบในแปลงปลูกพืชได้หรือไม่ อย่างไร โดยอาจจะทดสอบในแปลงเล็กๆก่อน

4 Likes

ขอบคุณมากๆครับอาจารย์ ความรู้แน่นมากครับ

อีกประการหนึ่ง อัตรสารฯที่ใช้ไม่ควรน้อยหรือมากกว่าคำแนะนำ เพราะการใช้ที่น้อยกว่าจะทำให้ศัตรูพืชดื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น ส่วนการใช้มากกว่ามีโอกาสที่จะเกิดพิษกับพืช
การไปผสมกับสารอื่นแล้วจะลดปริมาณของแต่ละสารลงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

2 Likes

ข้อมูลทรงคุณค่ามากครับอาจารย์

แมลงเจาะครับ

มิวิธีกำจัดไม่ใช้สารเคมีหรือเปล่าครับ