ถามผู้รู้ครับไฟท็อปทอราในทุเรียนหรือ “โรคท็อป” โรคนี้มันมีกี่ชนิดกี่ประเภทครับ
ไฟทอปทอร่า (Phytophthora) เป็นชื่อเชื้อราสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผลหลายชนิด สำหรับ ทุเรียนจะมีชื่อเต็มว่า Phytophthora palmivora เป็นเชื้อราชั้นต่ำที่อาศัยอยู่ในดิน เชื้อตัวนี้พบที่ไหนจะทำลายพืชได้รุนแรง รวดเร็วและเสียหายเสมอ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยอย่างไรจะต้องมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วย
อาการ จะเกิดได้กับหลายส่วนของทุเรียน
อาการเน่าที่โคนต้น และกิ่ง ที่ผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่ง คล้ายมีคราบน้ำเกาะติด เห็นได้ชัดในสภาพที่ต้นทุเรียนแห้ง เกิดจุดฉ่ำน้ำและมีน้ำเยิ้มออกมาเนื้อเยื่อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม แสดงอาการลุกลามเน่ารอบโคนต้น ทำให้ทุเรียนใบร่วงหมดต้น ยืนต้นแห้งตายในเวลาต่อมา
เชื้อราเข้าทำลายที่ใบ เกิดเป็นจุดสีน้ำตาล
เข้าทำลายที่ผล เกิดจุดสีน้ำตาลบนผล จะทำให้ผลเน่า ร่วง
เชื้อเข้าทำลายที่ระบบรากต้นทุเรียน ทำให้รากเป็นสีน้ำตาล เมื่อรากเน่ามากใบทุเรียนในระดับปลายกิ่ง แสดงอาการซีดเหลือง ชะงักการเริญเติบโต และต่อมาใบร่วงโดยเริ่มจากใบส่วนปลายกิ่งก่อน
การแพร่ระบาด
เชื้อนี้อาศัยอยู่ในดิน สปอร์ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์จะทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือ มีพืชอาหาร สปอร์นี้จะงอกและ สร้างเส้นใยเข้าไปในรากพืชและเจริญพัฒนาสร้างเส้นใยขยายตัวภายในพืชทำให้รากเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อรากเน่ามากใบทุเรียนที่ปลายกิ่งจะเหลืองซีด ชะงักการเจริญและร่วงในที่สุด
ในสภาวะที่ความชื้นสูงและฝนตกชุก เชื้อราแพร่กระเซ็นเข้าทำลาย ที่โคนต้น และ กิ่งใหญ่ๆ เห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำและมีน้ำเยิ้มออกมาเนื้อเยื่อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นทุเรียนแสดงอาการเหลืองเป็นกิ่งๆ หลังจากนั้นจะแพร่กระจายไปสู่ผล ทำให้ผลเน่า